List of content

    11 คำศัพท์เศรษฐกิจ ควรรู้ก่อนลงทุน


    11 คำศัพท์เศรษฐกิจ ควรรู้ก่อนลงทุน

    เฟด (Fed) หรือธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับขึ้นดอกเบี้ย! เชื่อว่า หลายคนคงจะเคยเห็นข่าวนี้ในช่วงที่ผ่านมา เรียกได้ว่า เห็นกันแทบทุกเดือนเลยทีเดียว แต่ทราบหรือไม่ว่า ทำไมเฟดจึงขึ้นดอกเบี้ย? และการขึ้นดอกเบี้ยเกี่ยวอะไรกับเศรษฐกิจโดยรวม? ส่งผลกระทบอย่างไรต่อภาคการลงทุน? และยังจะมีตัวเลขเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่ประกาศออกมาด้วย มันคืออะไรนะ? วันนี้ทีมงาน ThaiForexReview จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ 11 คำศัพท์เศรษฐกิจ ควรรู้ก่อนลงทุน เพื่อที่ทุกคนจะได้ไม่พลาดข่าวสารและการทิศทางการลงทุนดี ๆ หากตัวเลขดังกล่าวถูกประกาศออกมา

    ทำไมเราต้องรู้คำศัพท์เกี่ยวกับเศรษฐกิจก่อนลงทุน?

    หากต้องการที่จะลงทุน ไม่ว่าจะเป็นสินทรัพย์ใด ๆ ก็ตาม สิ่งที่นักลงทุนไม่ควรพลาด คือ ข่าวเศรษฐกิจ เพราะข่าวเหล่านี้จะเป็นตัวบ่งบอกถึงสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และแนวโน้มในอนาคต ซึ่งจะส่งต่อภาคการลงทุนอย่างรุนแรง ดังนั้น จึงถือเป็นสิ่งสำคัญที่นักลงทุนต้องติดตาม เพื่อนำตัวเลขเศรษฐกิจเหล่านี้มาวิเคราะห์ทิศทางการลงทุน อีกทั้ง นักลงทุนสายข่าวยังสามารถนำมาใช้เก็งกำไรได้เช่นกันครับ

    นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่นักลงทุนทุกคนควรรู้จัก “คำศัพท์เกี่ยวกับเศรษฐกิจ” ก่อนที่จะลงทุนครับ เพราะมันจะช่วยให้เราได้เปรียบอย่างมากในโลกแห่งการลงทุน

    คำศัพท์เศรษฐกิจที่ควรรู้ก่อนลงทุน

    เรามาทำความรู้จัก 11 คำศัพท์เศรษฐกิจที่ควรรู้ก่อนลงทุนกันดีกว่าครับ จะมีอะไรบ้าง และมีความสำคัญอย่างไร ไปดูกันครับ

    11 คำศัพท์เศรษฐกิจ ควรรู้ก่อนลงทุน

    1. อัตราเงินเฟ้อ

    ภาวะที่ราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าได้น้อยลง ซึ่งขณะที่อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น จะส่งผลให้ผลตอบแทนที่แท้จริงจากการลงทุนและการออมลดลง รวมทั้งยังส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนด้วยเช่นกัน

    2. อัตราดอกเบี้ยนโยบาย

    อัตราดอกเบี้ยที่กำหนดโดยธนาคารกลางของแต่ละประเทศ เป็นอัตราดอกเบี้ยที่สำคัญที่สุด เนื่องจากจะส่งผลต่ออัตราดอกเบี้ยอื่น ๆ ในระบบเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ หรือดอกเบี้ยอื่น ๆ

    3. นโยบายการเงิน

    เครื่องมือทางการเงินประเภทหนึ่งของธนาคารกลาง ซึ่งใช้เพื่อกำหนดทิศทางเศรษฐกิจ ควบคุมปริมาณเงิน อัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงอัตราดอกเบี้ย โดยมีนโยบาย 2 แบบ ซึ่งจะใช้ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่ต่างกัน คือ นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย และนโยบายการเงินแบบเข้มงวด

    4. นโยบายการคลัง

    เครื่องมือของรัฐบาลในการปรับสมดุลทางเศรษฐกิจ และเป็นนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการหารายได้และรายจ่ายของรัฐบาล ซึ่งรายได้ส่วนใหญ่มาจากการเก็บภาษีต่าง ๆ เช่น ภาษีสรรพาสามิต และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เป็นต้น

    5. มาตรการ QE / QT

    เครื่องมือทางการเงินของธนาคารกลางที่ใช้เพื่อกระตุ้นและชะลอเศรษฐกิจ โดย QE (Quantitative Easing) คือ การเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินด้วยการเพิ่มปริมาณเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ ส่วน QT (Quantitative Tightening) คือ การลดสภาพคล่องทางการเงินด้วยการดึงเงินออกจากระบบเศรษฐกิจ

    6. เงินแข็งค่า / อ่อนค่า

    อัตราแลกเปลี่ยน หรือค่าเงิน เปรียบเทียบโดยการนำเงินสกุลหนึ่งเทียบกับเงินอีกสกุลหนึ่ง ดังนั้น หากเงินฝั่งหนึ่งแข็งค่า อีกฝั่งก็จะอ่อนค่า โดยสาเหตุของการแข็งค่าและอ่อนค่ามาจากหลายปัจจัย ทั้งอุปสงค์ อุปทาน อัตราดอกเบี้ย อัตราเงินเฟ้อ การเติบโตทางเศรษฐกิจ ตลอดจนปัจจัยทางการเมือง ซึ่งค่าของเงินที่เปลี่ยนแปลงจะส่งผลต่อการลงทุน และธุรกิจการนำเข้า-ส่งออก

    7. อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield)

    ผลตอบแทนที่นักลงทุนคาดหวังจากการถือครองพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งเป็นตราสารหนี้ชนิดหนึ่งที่รัฐบาลใช้กู้ยืมเงินจากนักลงทุนในช่วงเวลาที่กำหนด เพื่อระดมทุนไปใช้ในการบริหารประเทศ โดยนักลงทุนในฐานะเจ้าหนี้จะได้รับผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ย ความสำคัญของ Bond Yield คือ ใช้คำนวณมูลค่าเหมาะสมของสินทรัพย์ทางการเงินทุกชนิด โดยเฉพาะตลาดหุ้น

    8. การเคลื่อนย้ายเงินทุน (Fund Flow)

    เงินจากนักลงทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นภายในประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะมาในรูปแบบกองทุนที่มีมูลค่าสูง ทำให้อุปสงค์และอุปทานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้น หากมีการเคลื่อนย้ายเงินทุนเข้ามาในประเทศจะส่งผลให้ตลาดหุ้นของประเทศนั้นปรับตัวสูงขึ้นตาม

    9. ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP)

    ตัวเลขที่สะท้อนมูลค่า หรือขนาดของเศรษฐกิจโดยรวมที่เกิดขึ้นในประเทศ ซึ่งวัดจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจ 4 ส่วน โดยตัวเลข GDP ที่ประกาศออกมา หากปรับตัวสูงขึ้น หมายความว่า เศรษฐกิจมีการเติบโต แต่หากปรับตัวลดลง  หมายความว่า เศรษฐกิจชะลอตัวลง

    10. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence Index: CCI)

    ตัวเลขที่สะท้อนถึงทัศนคติและความรู้สึกของผู้บริโภคต่อสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศในช่วงนั้น ๆ ซึ่งหากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นว่า ธุรกิจมีแนวโน้มที่ดี ผู้บริโภคก็จะมีการใช้จ่ายและลงทุนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมดีขึ้นตามไปด้วย ขณะเดียวกัน หากผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่นในธุรกิจ กิจกรรมทางเศรษฐกิจก็จะลดลงตามไปด้วยเช่นกัน

    11. ดัชนีราคาผู้ผลิต (Producer Price Index: PPI)

    ตัวเลขที่สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและวัตถุดิบที่ผู้ผลิตได้จำหน่ายโดยเฉลี่ย แรงกดดันเงินเฟ้อที่มาจากฝั่งผู้ผลิต ภาวะการค้าของประเทศ และสภาพเศรษฐกิจของภาคการผลิตโดยรวมของประเทศ 

     

    ทั้งหมดนี้ คือ 11 คำศัพท์เศรษฐกิจ ควรรู้ก่อนลงทุน ที่ทีมงานของเราได้คัดเลือกส่วนสำคัญมาให้ทุกท่านได้อ่านและทำความเข้าใจ เพราะคำศัพท์เหล่านี้มักจะปรากฏในหน้าข่าวอยู่บ่อยครั้ง อีกทั้ง ยังส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมและการลงทุนในช่วงนั้น ๆ หวังว่า บทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อนักอ่านทุกท่านนะครับ แต่อย่างไรก็ดี คำศัพท์เหล่านี้ยังไม่ใช่ทั้งหมด ครั้งหน้าจะมีคำศัพท์อื่น ๆ อีกหรือไม่ รอติดตามกันนะครับ

    ________________________________________________

    หากคุณมีความสนใจในเรื่องของการลงทุนเหมือนกันกับผม สามารถติดตาม ThaiForexReview

    ติดตามการเคลื่อนไหวของตลาดการลงทุนได้ที่ : News

    อ่านบทความสาระดี ๆ ได้ที่ : Blogs

    รีวิวโบรกเกอร์ยอดนิยม : Top Brokers

    investing

    แนะนำโบรกเกอร์สำหรับคุณ

    ข้อจำกัดด้านความปลอดภัย

    Thaiforexreview.com จะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสียหรือความเสียหายใด ๆ
    ที่เกิดจากการพึ่งพาข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้ รวมถึงข่าวการตลาด การวิเคราะห์ สัญญาณการซื้อขาย และบทวิจารณ์โบรกเกอร์ Forex ข้อมูลที่อยู่ในเว็บไซต์นี้อาจไม่เป็นปัจจุบัน และการวิเคราะห์เป็นความคิดเห็น ของ Thaiforexreview.com ไม่มีการการันตีใด ๆ

    การซื้อขายสกุลเงินในตลาด Forex มีความเสี่ยงสูง ก่อนตัดสินใจซื้อขาย Forex หรือใช้เครื่องมือทางการเงินอื่น ๆ ควรพิจารณาวัตถุประสงค์การลงทุน ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงอย่างรอบคอบ เรามุ่งเน้นเพื่อเสนอข้อมูล ที่สำคัญเกี่ยวกับโบรกเกอร์ทั้งหมดที่เราตรวจสอบเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องที่สุด

    © Copyright Thaiforexreview 2023. All rights reserved