List of content
ภาวะขาดดุลแฝดคืออะไร ? ไทยจะเจอซ้ำรอยหรือไม่
หากประเทศของเราจำเป็นต้องขาดดุลพร้อมกันจะเป็นอย่างไร? จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง? วันนี้ทางทีมงาน ThaiForexReview จะพาไปดูสาเหตุกันครับ เชื่อว่าหลาย ๆ คนอาจจะยังไม่รู้จักกับ “ภาวะขาดดุลแฝด” เนื่องจากไทยไม่ค่อยเผชิญกับภาวะเช่นนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ไทยมีความเสี่ยงมากที่จะเผชิญกับปัญหานี้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เราจึงควรทำความรู้จักกับมันไว้ครับ อย่างน้อยก็เผื่อไว้ใช้เป็นบันไดในการหลบเลี่ยงปัญหา หรือการขาดทุนจากการลงทุนครับ
ภาวะขาดดุลแฝด (Twin Deficits) คืออะไร?
ภาวะขาดดุลแฝด หรือภาวะขาดดุลคู่ คือ ภาวะที่เศรษฐกิจมีการขาดดุลการคลังของภาครัฐ และการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของดุลการค้าในช่วงเวลาเดียวกัน ทำให้ประเทศจำเป็นต้องรับบทหนักจากทั้ง 2 ทาง จึงอาจต้องมีการพึ่งพาเงินทุนจากนอกประเทศ
ปัจจัยที่ก่อให้เกิดภาวะขาดดุลแฝด
อันดับแรกเราต้องมาดูก่อนว่า การขาดดุลการคลังและการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมาจากสาเหตุอะไร จากนั้นมันนำไปสู่ภาวะขาดดุลแฝดได้อย่างไร ดังนี้ครับ
1. การขาดดุลการคลัง
สาเหตุมาจากการที่รัฐบาลมีรายจ่ายมากกว่ารายรับ ดังนั้น จึงต้องมีการกู้ยืมเพื่อชดเชยการขาดดุลนี้ ส่งผลให้อุปสงค์การบริโภค อุปสงค์การนำเข้า ตลอดจนการลงทุนภายในประเทศเพิ่มขึ้น นำไปสู่การปรับตัวของราคาสินค้าและบริการที่เพิ่มสูงขึ้นจนเกิดปัญหาเงินเฟ้อในที่สุด
2. การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด
มีสาเหตุมาจากการที่ประเทศมีรายจ่ายจากการนำเข้ามากกว่ารายรับจากการส่งออกสินค้า ทั้งภาคการค้า การบริการ และการลงทุนระหว่างประเทศ ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องนำเงินทุนสำรองมาชดเชยการขาดดุลที่เกิดขึ้น ทำให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศลดลง อีกทั้งยังเป็นการทำลายความเชื่อมั่นของผู้ที่ต้องการจะเข้ามาลงทุนภายในประเทศด้วย
จะเห็นว่า ภาวะขาดดุลแฝดมาจากการขาดดุล 2 ช่องทาง ทั้งจากภายในและภายนอก โดยที่การขาดดุลทั้ง 2 นี้มีความเชื่อมโยงกัน คือ หากเกิดการขาดดุลการคลังก็จะกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายและนำเข้าสินค้ามากขึ้น ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มที่จะขาดดุลมากขึ้นตามไปด้วย จากนั้นก็นำไปสู่ภาวะขาดดุลแฝดในที่สุดครับ
อย่างไรก็ดี ภาวะขาดดุลแฝดมักจะเกิดขึ้นได้ง่ายกับประเทศที่ต้องใช้งบประมาณมหาศาลในการพัฒนาและวางโครงสร้างพื้นฐานของประเทศครับ เนื่องจากประเทศนั้น ๆ มักจะขาดดุลการคลังอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ง่ายต่อการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดตามไปด้วยจากนโยบายภายในของประเทศนั้น ๆ ครับ
ภาวะขาดดุลแฝดส่งผลอย่างไรต่อเศรษฐกิจ?
จากสาเหตุข้างต้น ทุกคนคงจะเห็นแล้วว่า ภาวะขาดดุลแฝดเป็นสิ่งที่เกิดได้กับทุกประเทศ แต่จะขึ้นอยู่กับการดำเนินนโยบายและเศรษฐกิจโดยรวมในช่วงนั้น ๆ ซึ่งหากประเทศใดก็ตามประสบกับภาวะขาดดุลแฝดแล้ว ก็จะทำให้ประเทศนั้น ๆ ตลอดจนประชาชนภายในประเทศได้รับศึกหนักครับ เพราะเมื่อพวกเขาไม่มีเงิน พวกเขาก็มีแต่จะต้องพึ่งพาเงินทุนจากเจ้าหนี้นอกประเทศนั่นเอง เรามาดูกันดีกว่าครับว่า ภาวะขาดดุลแฝดจะส่งผลอย่างไรต่อเศรษฐกิจได้บ้าง
1. อ่อนไหวต่อปัจจัยภายนอก
จากที่กล่าวไปแล้วว่า เมื่อเกิดปัญหาภายในและภายนอกพร้อมกัน แต่เงินสำรองไม่เพียงพอ ประเทศนั้น ๆ ก็จำเป็นต้องกู้ยืมจากภายนอกครับ ทำให้ประเทศนั้น ๆ จะมีสถานะเป็นลูกหนี้ ซึ่งมีความอ่อนไหวต่อปัจจัยภายนอกได้ง่าย เนื่องจากการพึ่งพาเงินกู้จากต่างประเทศที่สูงนั่นเองครับ
2. เงินทุนไหลออก
หากเกิดภาวะขาดดุลแฝด โดยส่วนมากมักจะเป็นการทำลายความเชื่อมั่นของผู้ที่ต้องการจะเข้ามาลงทุนภายในประเทศ ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุน หรือเรียกง่าย ๆ ก็คือ เงินทุนไหลออกอย่างรุนแรงครับ ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้
3. เงินอ่อนค่า
แม้ว่าการอ่อนค่าของเงินอาจจะเป็นผลดีต่อการส่งออก แต่ในขณะเดียวกัน มันก็อาจนำไปสู่ปัญหาเงินเฟ้อในที่สุดได้เช่นกัน เนื่องจากพลังงานและวัตถุดิบบางส่วนยังต้องมีการนำเข้าต่างประเทศครับ
ทั้งหมดนี้ คือ ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น เมื่อประเทศต่าง ๆ ประสบกับภาวะขาดดุลแฝดครับ แต่อย่างไรก็ตาม หากเกิดปัญหาขึ้นจริง ๆ การแก้ไขปัญหาจะมาจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลและธนาคารกลางของประเทศร่วมด้วย ดังนั้น รัฐบาลจึงถือเป็นส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศครับ
ภาวะขาดดุลแฝดที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย
แม้ว่าภาวะขาดดุลแฝดมักจะเกิดขึ้นกับประเทศที่มีเศรษฐกิจเติบโตเร็วมากจนเกินไปจากการบริโภคและการลงทุนที่สูง หรือประเทศตลาดเกิดใหม่ เช่น ลาว อินเดีย บราซิล และแอฟริกาใต้ เป็นต้น แต่ประเทศไทยเองก็เคยประสบกับปัญหานี้เช่นกัน
โดยประเทศไทยเกิดภาวะขาดดุลแฝดด้วยกัน 2 ครั้ง ครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 2013 จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม และกำไรที่ได้จากการส่งกลับประเทศสูงขึ้น ส่วนครั้งล่าสุด คือ เมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา อันเนื่องมาจากวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวที่ถือเป็นรายได้หลักของประเทศ และแม้ว่าไทยจะมีมาตรการผ่อนคลายการควบคุมโรคแล้ว แต่การท่องเที่ยวจากต่างชาติก็ยังคงซบเซา ทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่ไทยจะประสบกับปัญหานี้ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 จากปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย โดยหนึ่งในนั้นก็คือ ต้นทุนการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศที่พุ่งสูงขึ้นครับ