PCE คืออะไร ? ตัวเลขเงินเฟ้อที่เทรดเดอร์ Forex ควรติดตาม

สำหรับเทรดเดอร์ในตลาด Forex การติดตามข่าวเศรษฐกิจและตัวชี้วัดต่าง ๆ ถือเป็นหัวใจสำคัญในการวิเคราะห์และตัดสินใจในการเข้าเทรดแต่ละครั้ง โดยหนึ่งในตัวชี้วัดที่มีอิทธิพลที่สุดต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ (USD) แต่เทรดเดอร์มือใหม่อาจมองข้ามไป คือ PCE Price Index บทความนี้จะเจาะลึกว่า PCE คืออะไร ? และเหตุใดจึงเป็นตัวเลขที่เทรดเดอร์ทุกคนต้องจับตามอง ? ในบทความมีคำตอบครับ
PCE Price Index ย่อมาจาก Personal Consumption Expenditures Price Index หรือดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล เป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่สำคัญของสหรัฐอเมริกา จัดทำโดยสำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจ (Bureau of Economic Analysis - BEA) โดยดัชนีนี้จะติดตามการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการทั้งหมดที่ผู้บริโภคในสหรัฐฯใช้จ่าย หรืออธิบายง่าย ๆ คือเป็นตัวชี้วัดว่า “ค่าครองชีพ” ของคนอเมริกันเพิ่มขึ้นหรือลดลงมากน้อยเพียงใดเมื่อเทียบกับช่วงเวลาก่อนหน้า
ดัชนี PCE แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก เพื่อให้นักวิเคราะห์และธนาคารกลางมองเห็นภาพรวมเงินเฟ้อได้ชัดเจนขึ้น ได้แก่
-
Headline PCE : คือดัชนี PCE แบบภาพรวม ที่นับรวมราคาสินค้าและบริการทุกหมวดหมู่ ไม่ว่าจะเป็นหมวดที่มีความผันผวนสูงอย่างราคาพลังงาน (น้ำมันหรือก๊าซ) และราคาอาหารสดก็ตาม
-
Core PCE : คือดัชนี PCE พื้นฐาน ที่ตัดเอาราคาสินค้าในหมวดพลังงานและอาหารสดออกไป ซึ่งเป็นหมวดที่มีความผันผวนสูงและเปลี่ยนแปลงบ่อยตามปัจจัยระยะสั้น
ความแตกต่างที่สำคัญระหว่าง PCE และ Core PCE
-
PCE (Headline PCE) : จะรวมสินค้าทุกอย่าง ทำให้ตัวเลขอาจเหวี่ยงขึ้นลงรุนแรงตามราคาพลังงานโลกหรือราคาผลผลิตเกษตรตามฤดูกาล
-
Core PCE : จะให้ภาพที่นิ่งและชัดเจนกว่าว่าแนวโน้มเงินเฟ้อพื้นฐานของเศรษฐกิจกำลังมุ่งไปในทิศทางใด ซึ่งนี่คือเหตุผลที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ให้ความสำคัญกับตัวเลขนี้เป็นพิเศษ
แต่ในการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจ PCE (Headline PCE) จะไม่ได้รับความสำคัญเท่ากับ Core PCE ดังนั้น เวลาประกาศตัวเลข PCE แต่ละสื่อจะทำการประกาศเพียงแค่ตัวเลข Core PCE ตัวเดียวเท่านั้น แต่ถ้าหากต้องการดูตัวเลข Headline PCE จะต้องเข้าไปดูในเว็บของ Bureau of Economic Analysis โดยตรงครับ
PCE วัดราคาสินค้าและบริการที่ "ครัวเรือน" ใช้จ่ายไปทั้งหมด ซึ่งมีความครอบคลุมมากกว่าดัชนีอื่นๆ โดยข้อมูลที่นำมาคำนวณมาจาก การสำรวจภาคธุรกิจ เป็นหลักว่าพวกเขาขายสินค้าและบริการอะไรให้ผู้บริโภคบ้าง ซึ่งรวมถึง:
-
ค่าใช้จ่ายที่ผู้บริโภคจ่ายโดยตรง : เช่น ค่าอาหาร, ค่าเสื้อผ้า หรือ ค่าตั๋วหนัง เป็นต้น
-
ค่าใช้จ่ายที่องค์กรอื่นจ่ายให้ในนามของผู้บริโภค : ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ ค่ารักษาพยาบาล ที่นายจ้างหรือโครงการประกันสุขภาพของรัฐจ่ายให้ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ PCE แตกต่างจากดัชนีอื่น
สำหรับเทรดเดอร์ Forex การอ่านค่า PCE จะเน้นไปที่การเปรียบเทียบ 3 ส่วนหลัก ๆ คือ
-
Actual (ค่าจริง) : ตัวเลขที่ประกาศออกมาล่าสุด
-
Forecast (ค่าคาดการณ์) : ตัวเลขที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ล่วงหน้า
-
Previous (ค่าครั้งก่อน) : ตัวเลขของเดือนหรือไตรมาสก่อนหน้า
การตีความเบื้องต้น
-
Actual > Forecast : ตัวเลขเงินเฟ้อสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ เป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจอาจร้อนแรงเกินไป อาจส่งผลให้ธนาคารกลาง (Fed) ต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ (ส่งผลดีต่อค่าเงินสกุลนั้น ๆ ในที่นี้คือ USD)
-
Actual < Forecast : ตัวเลขเงินเฟ้อต่ำกว่าคาดการณ์ เป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจอาจเกิดการชะลอตัว อาจส่งผลให้ Fed คงดอกเบี้ยหรือลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ (ส่งผลเสียต่อค่าเงินสกุลนั้น ๆ)
เทรดเดอร์มักจะดูการเปลี่ยนแปลงเทียบกับปีก่อนหน้า (Year-over-Year หรือ YoY) เพื่อดูแนวโน้มใหญ่ และเทียบกับเดือนก่อนหน้า (Month-over-Month หรือ MoM) เพื่อดูโมเมนตัมระยะสั้น
PCE คือมาตรวัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ให้ความสำคัญมากที่สุด และใช้เป็นเกณฑ์หลักในการกำหนดเป้าหมายนโยบายการเงิน (เป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2%) ด้วยเหตุผล 2 ประการคือ
-
ความครอบคลุม (Comprehensive) : PCE รวมค่าใช้จ่ายด้านบริการทางการแพทย์ที่จ่ายโดยนายจ้างและรัฐบาล ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทำให้เห็นภาพรวมค่าครองชีพได้สมบูรณ์กว่า
-
การปรับเปลี่ยนตะกร้าสินค้า (Substitution Effect) : PCE มีการปรับปรุงน้ำหนักของสินค้าและบริการในตะกร้าคำนวณทุกไตรมาส เพื่อสะท้อนพฤติกรรมการใช้จ่ายจริงของผู้บริโภค เช่น หากราคาเนื้อวัวแพงขึ้น คนหันไปซื้อเนื้อไก่แทน PCE ก็จะปรับน้ำหนักตาม ทำให้สะท้อนความเป็นจริงได้ดีกว่า
เนื่องจาก Fed ใช้ Core PCE เป็นตัวชี้วัดหลักในการตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ย ผลกระทบต่อค่าเงินดอลลาร์ (USD) จึงเกิดขึ้นเป็นลูกโซ่ ดังนี้:
-
หาก Core PCE สูงกว่าเป้าหมาย (2%)
-
Fed อาจส่งสัญญาณหรือตัดสินใจ ขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจ
-
อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น จะดึงดูดกระแสเงินทุนจากต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในสกุลเงิน USD
-
ความต้องการ USD เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ ค่าเงิน USD แข็งค่าขึ้น (เช่น คู่เงิน EUR/USD ปรับตัวลง และ USD/JPY ปรับตัวขึ้น)
-
หาก Core PCE ต่ำกว่าเป้าหมาย (2%)
-
Fed อาจส่งสัญญาณหรือตัดสินใจ คงหรือลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
-
อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงทำให้ความน่าสนใจในการถือครอง USD ลดลง
-
ความต้องการ USD ลดลง ส่งผลให้ ค่าเงิน USD อ่อนค่าลง
แต่จากประสบการณ์การเทรดของทีมงาน Thaiforexreview กับข่าว PCE พบว่า ผลกระทบของข่าวไม่ได้ส่งผลให้เกิดความผันผวนรุนแรงมากเท่าที่ควร และส่งผลให้ราคาเกิดเป็น Sideway หรือเกิดการกลับตัวไปอีกทางหลังจากการประกาศตัวเลขอยู่บ่อยครั้ง
จากตัวอย่างกราฟราคาทองคำ (XAUUSD) แท่งเทียนที่ทางทีมงานได้ทำการ Highlight เอาไว้ เป็นช่วงที่มีการประกาศตัวเลข PCE โดยตัวเลขออกมาดีกว่าที่คาดการณ์อยู่ที่ 0.2% จาก 0.1% ซึ่งปกติแล้ว ข่าว PCE จะส่งผลกระทบต่อค่าเงินดอลลาร์และทองคำโดยตรง และการที่ตัวเลข PCE ออกมาดีกว่าที่คาดการณ์ ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวขึ้นและกดดันราคาทองคำลง โดยราคาทองคำปรับตัวลงประมาณ 11 ดอลลาร์ (คิดเป็น 1,100 จุด) และเกิดเป็น Sideway ก่อนที่จะร่วงลงไปทดสอบแนวรับและปรับตัวขึ้นไปอีกครั้ง
ตัวอย่างนี้ แสดงให้เห็นว่า ผลกระทบของข่าว PCE นี้ ไม่ได้มีอิทธิพลมากพอที่จะส่งผลให้เกิดผลกระทบในระยะกลางถึงระยะยาว แต่เป็นเพียงผลกระทบในระยะสั้นเท่านั้นครับ
CPI (Consumer Price Index) เป็นอีกหนึ่งดัชนีเงินเฟ้อที่ตลาดให้ความสนใจ แต่ความแตกต่างระหว่าง PCE และ CPI หลายประการ ดังนี้
หัวข้อเปรียบเทียบ |
CPI (ดัชนีราคาผู้บริโภค) |
PCE (ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล) |
หน่วยงานที่จัดทำ |
Bureau of Labor Statistics (BLS) |
Bureau of Economic Analysis (BEA) |
แหล่งข้อมูล |
สำรวจจาก "ครัวเรือน" (สิ่งที่คนจ่ายจากกระเป๋า) |
สำรวจจาก "ภาคธุรกิจ" (สิ่งที่ธุรกิจขายให้คน) |
ความครอบคลุม |
แคบกว่า (เน้นค่าใช้จ่ายโดยตรง) |
กว้างกว่า (รวมค่าใช้จ่ายที่คนอื่นจ่ายให้ เช่น ประกันสุขภาพ) |
*การปรับตะกร้าสินค้า |
ปรับไม่บ่อย (ประมาณ 2 ปีครั้ง) |
ปรับทุกไตรมาส (สะท้อนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม) |
น้ำหนักหมวดหมู่ |
ให้น้ำหนัก "ค่าที่อยู่อาศัย" สูง |
ให้น้ำหนัก "ค่ารักษาพยาบาล" สูง |
ความสำคัญต่อ Fed |
สำคัญรอง |
สำคัญที่สุด (เป็นมาตรวัดหลักของ Fed) |
* "การปรับตะกร้าสินค้า" หมายถึง ความถี่และวิธีการในการอัปเดตรายการสินค้าและบริการที่นำมาใช้คำนวณดัชนีราคาครับ ซึ่งถ้าหากยิ่งมีการปรับบ่อย ยิ่งจะทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เป็นปัจจุบันมากขึ้น
* "ตะกร้าสินค้า" (Basket of Goods) คือ กลุ่มตัวอย่างของสินค้าและบริการที่ผู้บริโภคโดยเฉลี่ยซื้อเป็นประจำ เช่น ค่าอาหาร, ค่าน้ำมัน, ค่าเช่าบ้าน, ค่ารักษาพยาบาล, ค่าเสื้อผ้า ฯลฯ หน่วยงานที่จัดทำดัชนีจะติดตามราคาของสินค้าในตะกร้านี้เพื่อวัดอัตราเงินเฟ้อ
ข้อดี |
ข้อเสีย |
|
|
บทควาทที่เกี่ยวข้องกับ PCE
- PPI คืออะไร ? ส่งผลกับตลาด Forex ในแง่มุมใดบ้าง ?
- Non Farm คืออะไร? ปัจจัยที่ส่งผลต่อตลาด Forex ในทุกต้นเดือน
- PMI คืออะไร ? สิ่งที่เทรดเดอร์สายปัจจัยพื้นฐานต้องรู้!
- เจาะลึก! การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน Forex ที่เทรดเดอร์ต้องรู้
PCE ย่อมาจากอะไร ?
PCE ย่อมาจาก Personal Consumption Expenditures หรือดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล เป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่สำคัญที่สุดของสหรัฐอเมริกา
Core PCE Price Index m/m ดูได้ที่ไหน ?
Core PCE Price Index m/m สามารถดูได้จากเว็บข่าวเศรษฐกิจทั่วไปได้ เช่น Forex Factory หรือ Investing เป็นต้น
โดยสรุปแล้ว PCE คือ ดัชนีชี้วัดเงินเฟ้อที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Core PCE ที่เป็นมาตรวัดหลักในการตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ย สำหรับเทรดเดอร์ Forex การทำความเข้าใจและติดตามการประกาศตัวเลข PCE อย่างใกล้ชิด จะช่วยให้สามารถคาดการณ์ทิศทางของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ได้อย่างมีหลักการและเพิ่มความได้เปรียบในการเทรด ดังนั้น ครั้งต่อไปที่คุณเห็นตารางข่าวเศรษฐกิจ อย่าลืมมองหาตัวอักษรสามตัวนี้ "PCE" เพราะมันอาจเป็นตัวกำหนดกำไรหรือขาดทุนของคุณในวันนั้นได้เลยทีเดียว
แหล่งอ้างอิง : Investopedia
หากคุณมีความสนใจในเรื่องของการลงทุนเหมือนกันกับผม
สามารถติดตามความรู้เกี่ยวกับ Forex ได้ทางเว็บไซต์ www.thaiforexreview.com
ติดตามความเคลื่อนไหวและการประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ ได้ทางเพจเฟซบุ๊ก Thaiforexreview
ติดตามข่าวสารการลงทุนและบทวิเคราะห์ฟอเร็กซ์ได้ที่ Forex Analysis
อ่านบทความสาระดี ๆ ได้ที่ Blogs
อ่านรีวิวโบรกเกอร์ยอดนิยมได้ที่ Top Brokers
แนะนำโบรกเกอร์สำหรับคุณ
