List of content

    ไขข้อสงสัย GDP คืออะไร? และแตกต่างจาก GNP อย่างไร?


    ไขข้อสงสัย GDP คืออะไร และแตกต่างจาก GNP อย่างไร

    รู้หรือไม่? GDP และ GNP สามารถใช้ประเมินความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและความแข็งแกร่งของค่าเงินได้ นักลงทุนมือใหม่จึงควรรู้จักตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศเหล่านี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเทรดทำกำไรได้มากขึ้น โดยในบทความนี้ Thaiforexreview จะพาไปทำความรู้จักว่า GDP คืออะไร?, GNP คืออะไร? และ GDP กับ GNP แตกต่างกันอย่างไรครับ

     

    GDP คืออะไร?

    GDP (Gross Domestic Product) คือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ที่เป็นมูลค่ารวมของสินค้าและบริการทั้งหมดที่ผลิตขึ้นภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นผลผลิตของคนสัญชาติใดก็ตาม แต่ไม่นับรายได้ที่คนสัญชาตินั้นทำได้จากต่างประเทศครับ

    💡 GDP จะอ้างอิงเฉพาะสินค้าและบริการที่ผลิตภายในประเทศเท่านั้น โดยไม่สนว่าผู้ผลิตจะเป็นคนภายในประเทศหรือชาวต่างชาติ

    GDP บอกอะไรได้บ้าง?

    GDP ถูกใช้เพื่อวัดถึงอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศ จากความสามารถในการผลิตและมูลค่าการใช้จ่ายที่เกิดขึ้นภายในประเทศ นอกจากนี้ ยังสะท้อนถึงความสามารถในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้อีกด้วย ดังนั้น นักลงทุนสามารถใช้ตัวเลข GDP เพื่อกำหนดกลยุทธ์และทิศทางในการลงทุนได้ เพราะเป็นตัวชี้วัดสำคัญที่จะทำให้ทราบถึงภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศครับ

     

    GDP คำนวณอย่างไร?

    การคำนวณ GDP มี 3 วิธี ได้แก่ คำนวณจากรายได้, คำนวณจากรายจ่าย และคำนวณจากด้านผลผลิต แต่สูตรที่นิยมใช้กันมากที่สุด คือ การคำนวณจากรายจ่าย เนื่องจากสะท้อนภาพรวมของเศรษฐกิจได้อย่างชัดเจน เพราะเมื่อมีการผลิตสินค้าและบริการ ผู้ผลิตต้องจ่ายค่าตอบแทนให้กับปัจจัยการผลิตต่าง ๆ เช่น ค่าเช่า สำหรับที่ดิน, ค่าแรง สำหรับแรงงาน รวมถึงดอกเบี้ย สำหรับเงินทุน ซึ่งค่าตอบแทนที่ได้จากการผลิตเหล่านี้จะถูกนำกลับมาใช้จ่ายเพื่อบริโภคสินค้าและบริการอีกครั้ง ดังนั้น มูลค่าของสินค้าและบริการทั้งหมดที่ผลิตจึงเท่ากับรายได้รวมของเศรษฐกิจและเท่ากับค่าใช้จ่ายทั้งหมดครับ

    สูตรที่ใช้ในการคำนวณ GDP คือ

    GDP = C + I + G + (X – M)

    โดยแต่ละองค์ประกอบหมายถึง

    • C (Consumption) คือ การบริโภคของภาคเอกชนและประชาชนทั่วไป เช่น ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาหาร, สินค้า, น้ำ หรือไฟฟ้า เป็นต้น

    • I (Investment) คือ การลงทุนของภาคเอกชน เช่น การซื้อที่ดิน, เครื่องจักร หรือซอฟต์แวร์ เป็นต้น

    • G (Government Spending) คือ การใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ เช่น การสร้างถนน, การซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ หรือค่าครุภัณฑ์ต่าง ๆ เป็นต้น

    • X (Export) คือ การส่งออก

    • M (Import) คือ การนำเข้า

    💡 X – M หรือ NX (Net Export) คือ มูลค่าการส่งออกสินค้าสุทธิ โดยนำมูลค่าการส่งออกลบด้วยมูลค่าการนำเข้า

     

    GDP บวกหรือลบ หมายความว่าอะไร?

    การอ่านค่าตัวเลข GDP ที่ถูกประกาศออกมา สามารถอ่านได้ดังนี้

    • หากตัวเลข GDP เป็นบวก (+) แสดงว่า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศนั้นสูงขึ้น เนื่องจากมีการไหลเวียนของเงินที่มาจากการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศเพิ่มขึ้น ทำให้ประเทศนั้นมีรายได้มากขึ้นครับ

    • หากตัวเลข GDP เป็นลบ (–) แสดงว่า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศนั้นมีการชะลอตัว เนื่องจากมีการไหลเวียนของเงินที่มาจากการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศลดลง ทำให้ประเทศนั้นมีรายได้น้อยลงครับ

     

    GDP มีกี่ประเภท?

    GDP มีกี่ประเภท

    GDP สามารถแบ่งออกได้ทั้งหมด 3 ประเภทหลัก ๆ ซึ่งแต่ละประเภทจะสะท้อนภาพรวมเศรษฐกิจในรายละเอียดที่แตกต่างกัน ดังนี้

    Nominal GDP (GDP ที่เป็นตัวเงิน)

    Nominal GDP คือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่เป็นตัวเงิน โดยมูลค่าของสินค้าและบริการทั้งหมดที่ผลิตในประเทศ ซึ่งวัดจากมูลค่าของสินค้าและบริการที่ผลิตในปีนั้น ๆ โดยไม่ได้ปรับตามอัตราเงินเฟ้อ ดังนั้น หากราคาสินค้าเพิ่มขึ้น Nominal GDP ก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย แม้ว่าปริมาณการผลิตจะไม่ได้เพิ่มขึ้นก็ตาม

    💡 Nominal GDP จะใช้เปรียบเทียบผลผลิตในไตรมาสต่าง ๆ ของปีเดียวกันเท่านั้น หากมีการเปรียบเทียบ GDP สองปีขึ้นไป จะใช้ Real GDP แทนครับ

    Real GDP (GDP ที่แท้จริง)

    Real GDP คือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่ปรับค่าตามอัตราเงินเฟ้อ เพื่อสะท้อนถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แท้จริง โดยการคิด Real GDP จะใช้ราคาสินค้าและบริการที่ปรับแบบคงที่จากปีก่อน ทำให้สามารถแยกผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของระดับราคา (เงินเฟ้อเงินฝืด) ออกได้อย่างชัดเจน ดังนั้น Real GDP จึงสามารถประเมินการเติบโตของเศรษฐกิจได้อย่างแม่นยำ

    GDP per Capita (GDP ต่อหัว)

    GDP per Capita คือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัวประชากร เพื่อสะท้อนถึงปริมาณผลผลิตเฉลี่ยต่อคน, มาตรฐานการครองชีพและความสามารถในการใช้จ่ายของประชากรในประเทศโดยรวม ซึ่งสามารถแสดงค่าได้ในหลายรูปแบบ เช่น Nominal GDP per Capita, Real GDP per Capita และ GDP per Capita ที่ปรับมูลค่าตามดุลยภาพของอำนาจซื้อ (Purchasing Power Parity : PPP)

     

    GDP ส่งผลต่อการลงทุนอย่างไร?

    GDP เป็นตัวชี้วัดสำคัญที่สะท้อนถึงการเติบโตของเศรษฐกิจในภาพรวม ซึ่งนักลงทุนมักใช้รายงาน GDP เป็นข้อมูลพื้นฐานในการประเมินสภาวะเศรษฐกิจ เพื่อประกอบการตัดสินใจในการลงทุน โดยในรายงาน GDP จะมีข้อมูลสำคัญ เช่น ผลกำไรของภาคธุรกิจและระดับสินค้าคงคลัง ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถบอกถึงแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจ รวมถึงบอกแนวโน้มในแต่ละภาคส่วนได้อีกด้วย เช่น ภาคการผลิต การบริโภค หรือการลงทุน ดังนั้น ข้อมูลเหล่านี้จึงช่วยให้นักลงทุนสามารถวิเคราะห์สภาวะเศรษฐกิจได้ว่าอยู่ในช่วงขยายตัวหรือชะลอตัว เพื่อให้บริหารจัดสรรการลงทุนได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพครับ

    💡 การรายงานข้อมูล GDP จะมีการเผยแพร่เพียงไตรมาสละหนึ่งครั้ง จึงถือเป็นข้อมูลที่ช่วยให้การลงทุนระยะยาวมีประสิทธิภาพกว่าระยะสั้นครับ

    GNP คืออะไร?

    GNP (Gross National Product) คือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติที่เป็นมูลค่ารวมของสินค้าและบริการทั้งหมดที่พลเมืองในประเทศนั้นผลิต ไม่ว่าจะเป็นผลผลิตที่เกิดขึ้นในหรือนอกประเทศ โดยไม่นับผลผลิตที่เกิดจากคนสัญชาติอื่นครับ

    💡 GNP จะอ้างอิงเฉพาะสินค้าและบริการที่คนภายในประเทศผลิตเท่านั้น โดยไม่สนว่าจะผลิต ในหรือนอกประเทศ

    GNP บอกอะไรได้บ้าง?

    GNP ถูกใช้เพื่อเป็นตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ เนื่องจากผลผลิตทางเศรษฐกิจจากพลเมืองของประเทศนั้น ๆ ทั้งในและต่างประเทศจะสามารถชี้ให้เห็นถึงปัญหาระดับชาติได้ เช่น อัตราเงินเฟ้อ, ดุลการชำระเงินและความยากจน เป็นต้น ซึ่งการคำนวณรายได้ของพลเมืองในประเทศโดยไม่คำนึงถึงที่ตั้ง จะทำให้ GNP มีความน่าเชื่อถือมากกว่า GDP เนื่องจากเป็นมุมมองในการคำนวณแบบกว้างไกลกว่าเดิม อีกทั้งยังตัดเรื่องการนับพลเมืองซ้ำอีกด้วยครับ

     

    GNP คำนวณอย่างไร?

    สูตรที่ใช้ในการคำนวณ GNP คือ

    GNP = GDP + NFIA

    โดยแต่ละองค์ประกอบหมายถึง

    • GDP คือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

    • NFIA คือ รายได้สุทธิจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นผลต่างระหว่างรายได้ที่พลเมืองของประเทศนั้นได้รับจากต่างประเทศ และรายได้ที่พลเมืองต่างประเทศได้รับจากภายในประเทศนั้น

     

    GNP มีกี่ประเภท?

    GNP มีกี่ประเภท


    GNP สามารถแบ่งออกได้ทั้งหมด 2 ประเภทหลัก ๆ ดังนี้

    Nominal GNP (GNP ที่เป็นตัวเงิน)

    Nominal GNP คือ มูลค่ารวมของสินค้าและบริการที่ผลิตโดยพลเมืองของประเทศ ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศหรือต่างประเทศ โดยยังไม่ได้ปรับตามอัตราเงินเฟ้อ ดังนั้น Nominal GNP จะใช้เพื่อดูภาพรวมของเศรษฐกิจตามราคาตลาดจริง

    Real GNP (GNP ที่แท้จริง)

    Real GNP คือ มูลค่ารวมของสินค้าและบริการที่ผลิตโดยพลเมืองของประเทศที่ปรับตามอัตราเงินเฟ้อ ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศหรือต่างประเทศ โดยการคิด Real GNP จะใช้ราคาสินค้าและบริการที่ปรับแบบคงที่จากปีก่อน เพื่อให้สามารถเปรียบเทียบการเติบโตทางเศรษฐกิจในแต่ละปีได้อย่างแม่นยำมากขึ้น

     

    ทำไมต้องรู้จัก GDP และ GNP?

    GDP และ GNP เหมือนและแตกต่างกันอย่างไร?

    การรู้จัก GDP และ GNP ถือว่าเป็นพื้นฐานสำคัญในการเข้าใจภาพรวมของเศรษฐกิจ เพื่อช่วยให้นักลงทุนสามารถมองแนวโน้มเศรษฐกิจได้ดียิ่งขึ้นและตัวเลข GDP และ GNP ก็จะสามารถนำไปหา รายได้สุทธิจากต่างประเทศ (Net Factor Income From Aboard: NFIA) ได้จากสมการต่อไปนี้ครับ

    NFIA = A – B

    กำหนดให้

    • A คือ รายได้ที่พลเมืองนั้นหาได้จากต่างประเทศ ตัวอย่างเช่น คนไทยที่ไปทำงานต่างประเทศ

    • B คือ รายได้ที่พลเมืองของประเทศอื่นหาได้จากประเทศนั้น ตัวอย่างเช่น คนต่างประเทศที่มาทำงานในไทย

    ผลลัพธ์จากสูตร สามารถอ่านค่าได้ ดังนี้

    • หาก A มากกว่า B หรือมีค่าเป็นบวก (+) แสดงว่า ประเทศนั้นมีรายได้มากกว่ารายจ่าย ซึ่งมีส่วนทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศเติบโตเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ตัวเลข GNP มีค่าสูงกว่าตัวเลข GDP 

    • หาก A น้อยกว่า B หรือมีค่าเป็นลบ (–) แสดงว่า ประเทศนั้นมีรายได้น้อยกว่ารายจ่าย ซึ่งมีส่วนทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศชะลอตัว ส่งผลให้ตัวเลข GNP มีค่าต่ำกว่าตัวเลข GDP

    ความสำคัญของรายได้สุทธิจากต่างประเทศ (NFIA)

    รายได้สุทธิจากต่างประเทศ (NFIA) เป็นตัวชี้วัดที่แสดงถึงสมดุลระหว่างรายได้ที่เกิดขึ้นและภาวะทางเศรษฐกิจโดยรวม ทำให้เราทราบว่า ประเทศนั้น ๆ มีรายได้จากพลเมืองที่หาได้จากต่างประเทศมากหรือน้อยกว่า รายได้ที่พลเมืองของประเทศอื่นหาได้จากประเทศนั้นครับ 

    โดยการวัดค่า NFIA จะช่วยประเมินการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศนั้น ๆ ว่าเติบโตอย่างมีเสถียรภาพหรือไม่ อีกทั้งยังช่วยประเมินความยั่งยืนของสถานะทางการเงินระหว่างประเทศของประเทศนั้น ๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความแข็งแกร่งของค่าเงินในประเทศต่อไปครับ ดังนั้น NFIA จึงสามารถใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจในการลงทุนได้ทั้งในและต่างประเทศได้ครับ

     

    GDP และ GNP เหมือนและแตกต่างกันอย่างไร?

     

    ความเหมือนกันของ GDP และ GNP

    ความแตกต่างกันของ GDP และ GNP

    • GDP และ GNP เป็นตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ

    • GDP และ GNP จะนับเฉพาะสินค้าและบริการที่เป็น สินค้าขั้นสุดท้าย (Final Product) หรือก็คือสินค้าที่ใช้เองเท่านั้น ไม่ได้มีการนำสินค้าเหล่านี้ไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตหรือขายต่อ

    • การซื้อสินค้ามือสอง, สินค้าผิดกฎหมาย, สินค้าเลี่ยงภาษี และผลิตภัณฑ์ทางการเงินจะไม่ถูกนำมาคำนวณ GDP และ GNP เพราะไม่ได้เป็นการเพิ่มผลผลิต

    • ในการคำนวณ GDP และ GNP โดยทั่วไปจะมีการกำหนดระยะเวลา 1 ปี

    • GDP = รายได้ที่พลเมืองนั้นหาได้ในประเทศ + รายได้ที่พลเมืองของประเทศอื่นหาได้ในประเทศนั้น

    • GNP = รายได้ที่พลเมืองนั้นหาได้ในประเทศ + รายได้ที่พลเมืองนั้นหาได้จากต่างประเทศ

    • GDP จะนับรวมผลผลิตของทุกคนในประเทศ ไม่ว่าจะสัญชาติใด ขณะที่ GNP จะนับเฉพาะผลผลิตจากพลเมืองของประเทศเท่านั้น ไม่ว่าจะอยู่ที่ประเทศใด ดังนั้น GDP อาจเกิดการนับซ้ำผู้คนได้ แต่ GNP จะตัดปัญหาดังกล่าว ทำให้ตัวเลขที่คำนวณออกมามีความชัดเจนและชี้วัดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

     

    ความแตกต่างของ GDP และ GNP ในแต่ละประเทศ

    ในแต่ละประเทศก็มีความสัมพันธ์ของ GDP และ GNP ที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับลักษณะของเศรษฐกิจและบทบาทของประชากรในการผลิตหรือการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งในบทความนี้ทางทีมงาน Thaiforexreview จะขอยกตัวอย่างประเทศมหาอำนาจพร้อมทั้งอธิบาย ดังนี้

    • สหรัฐอเมริกา มี GNP ที่สูงกว่า GDP เนื่องจากมีพลเมืองของประเทศสหรัฐฯ มีการลงทุนในต่างประเทศเป็นจำนวนมาก จึงทำให้มีรายได้ไหลกลับเข้าประเทศ

    • จีน มี GDP ที่สูงกว่า GNP แม้จะมีการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น แต่ก็มีบริษัทและการลงทุนจากต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศมากกว่า จึงทำให้รายได้บางส่วนที่เกิดจากการผลิตภายในประเทศไหลออกไปยังต่างประเทศที่เป็นถิ่นฐานของนักลงทุน

    💡 ส่วนประเทศไทย มี GDP ที่สูงกว่า GNP เพราะเป็นประเทศที่นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศมากเช่นเดียวกันกับประเทศจีนครับ

    คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ GDP และ GNP

    ทำไมไม่นับรวมการนำเข้าใน GDP?

    🚩 ที่ไม่นับการนำเข้าใน GDP เพราะ GDP ต้องการวัดแค่มูลค่าการผลิตที่เกิดขึ้นภายในประเทศเท่านั้น จึงไม่ได้นำการนำเข้ามาคิดด้วย (การนำเข้าไม่ใช่การผลิตในประเทศ)

    GDP รายไตรมาสออกเมื่อไหร่?

    🚩 ในประเทศต่าง ๆ รวมถึงประเทศไทย รายงาน GDP จะออกทุกไตรมาส โดยจะจัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติหรือหน่วยงานเศรษฐกิจของรัฐในประเทศนั้น ๆ

    GDP และ GNP แตกต่างกันอย่างไร?

    🚩 GDP จะนับรวมผลผลิตของทุกคนในประเทศ ไม่ว่าจะสัญชาติใด ขณะที่ GNP จะนับเฉพาะผลผลิตจากพลเมืองของประเทศเท่านั้น ไม่ว่าจะอยู่ที่ประเทศใด ด้วยเหตุนี้ ทำให้ GDP อาจทำให้เกิดการนับซ้ำของผู้คนได้ แต่ GNP จะแก้ปัญหาดังกล่าว ทำให้ตัวเลขที่คำนวณออกมามีความชัดเจนและชี้วัดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

    GNP ย่อมาจากอะไร?

    🚩 GNP ย่อมาจาก Gross National Product

    GDP ย่อมาจากอะไร?

    🚩 GDP ย่อมาจาก Gross Domestic Product 

     

    สรุป GDP คืออะไร? และแตกต่างจาก GNP อย่างไร?

    GDP เป็นตัวชี้วัดผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ เพื่อดูแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจและ GNP ก็เป็นตัวชี้วัดผลผลิตภัณฑ์มวลรวมของพลเมืองเท่านั้น ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศหรือนอกประเทศ แม้ว่าทั้ง GDP และ GNP จะมีความแตกต่างกันในเรื่องการนำข้อมูลมาคำนวณ แต่ทั้งสองตัวชี้วัดก็เป็นข้อมูลสำคัญที่สะท้อนภาพรวมเศรษฐกิจและความสามารถในการเติบโตของเศรษฐกิจ

    นักลงทุนสามารถนำข้อมูลทั้งสองไปใช้ประกอบการตัดสินใจและพิจารณาแผนการลงทุนได้ ทั้งการลงทุนในประเทศ, ต่างประเทศ, ตลาดหุ้น, ตลาด Forex และตลาดคริปโตครับ เพื่อวางแผนให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพครับ


     

    ⚠️ การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน

     

    หากคุณมีความสนใจในเรื่องของการลงทุนเหมือนกันกับผม

    สามารถติดตามความรู้เกี่ยวกับ Forex ได้ทางเว็บไซต์ www.thaiforexreview.com

    ติดตามความเคลื่อนไหวและการประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ ได้ทางเพจเฟซบุ๊ก Thaiforexreview

    ติดตามข่าวสารการลงทุนและบทวิเคราะห์ฟอเร็กซ์ได้ที่ Forex Analysis

    อ่านบทความสาระดี ๆ ได้ที่ Blogs

    อ่านรีวิวโบรกเกอร์ยอดนิยมได้ที่ Top Brokers

     

    investing

    แนะนำโบรกเกอร์สำหรับคุณ

    tfn
    ข้อจำกัดด้านความปลอดภัย

    Thaiforexreview.com จะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสียหรือความเสียหายใด ๆ
    ที่เกิดจากการพึ่งพาข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้ รวมถึงข่าวการตลาด การวิเคราะห์ สัญญาณการซื้อขาย และบทวิจารณ์โบรกเกอร์ Forex ข้อมูลที่อยู่ในเว็บไซต์นี้อาจไม่เป็นปัจจุบัน และการวิเคราะห์เป็นความคิดเห็น ของ Thaiforexreview.com ไม่มีการการันตีใด ๆ

    การซื้อขายสกุลเงินในตลาด Forex มีความเสี่ยงสูง ก่อนตัดสินใจซื้อขาย Forex หรือใช้เครื่องมือทางการเงินอื่น ๆ ควรพิจารณาวัตถุประสงค์การลงทุน ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงอย่างรอบคอบ เรามุ่งเน้นเพื่อเสนอข้อมูล ที่สำคัญเกี่ยวกับโบรกเกอร์ทั้งหมดที่เราตรวจสอบเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องที่สุด

    ความรู้ Forex

    Forex

    Gold

    Beginner

    Investing

    ข้อจำกัดด้านความปลอดภัย

    Thaiforexreview.com จะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสียหรือความเสียหายใด ๆ
    ที่เกิดจากการพึ่งพาข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้ รวมถึงข่าวการตลาด การวิเคราะห์ สัญญาณการซื้อขาย และบทวิจารณ์โบรกเกอร์ Forex ข้อมูลที่อยู่ในเว็บไซต์นี้อาจไม่เป็นปัจจุบัน และการวิเคราะห์เป็นความคิดเห็น ของ Thaiforexreview.com ไม่มีการการันตีใด ๆ

    การซื้อขายสกุลเงินในตลาด Forex มีความเสี่ยงสูง ก่อนตัดสินใจซื้อขาย Forex หรือใช้เครื่องมือทางการเงินอื่น ๆ ควรพิจารณาวัตถุประสงค์การลงทุน ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงอย่างรอบคอบ เรามุ่งเน้นเพื่อเสนอข้อมูล ที่สำคัญเกี่ยวกับโบรกเกอร์ทั้งหมดที่เราตรวจสอบเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องที่สุด

    © Copyright Thaiforexreview 2023. All rights reserved