List of content

    ภาษีการลงทุนคืออะไร นักลงทุนทุกคนต้องเสียภาษีนี้หรือไม่?! อัปเดตทุกสินทรัพย์ 2023


    ภาษีการลงทุนคืออะไร นักลงทุนทุกคนต้องเสียภาษีนี้หรือไม่?! อัปเดตทุกสินทรัพย์ 2023

    เงินปันผลต้องเสียภาษีไหม? เทรด Forex ต้องเสียภาษีหรือไม่? ในช่วงปลายเดือนมิถุนายนหรือปลายปี มักจะเป็นช่วงที่หลาย ๆ ท่านได้รับดอกเบี้ยเงินฝากและเงินปันผลจากสินทรัพย์ต่าง ๆ ที่ได้ลงทุนไปก่อนหน้านี้ แต่ทราบกันหรือไม่ครับว่า เงินเหล่านี้จัดเป็นเงินได้ประเภทหนึ่ง ดังนั้น Thaiforexreview จะพาทุกท่านไปรู้จัก “ภาษีการลงทุน” และอัปเดตว่า สินทรัพย์ใดบ้างที่มีการจัดเก็บภาษีการลงทุนนี้ครับ

     

    ภาษีการลงทุนคืออะไร?

    • ภาษี คือ เงินตราที่ประชาชนและผู้ประกอบธุรกิจนำส่งให้แก่รัฐหรือผู้ที่มีอำนาจหน้าที่เท่ากับรัฐ เพื่อนำไปใช้พัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค การศึกษา การแพทย์ โครงการรัฐ ตลอดจนค่าใช้จ่ายในระบบราชการ ซึ่ง “ประชาชนชาวไทยทุกคน” มีหน้าที่ที่จะต้องเสียภาษี ไม่ทางตรงก็ทางอ้อมครับ

    • ภาษีการลงทุน คือ เงินตราที่บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลทั้งในประเทศและต่างประเทศจะต้องนำส่งให้แก่รัฐหรือผู้ที่มีอำนาจหน้าที่เท่ากับรัฐ เพื่อนำไปใช้พัฒนาประเทศ ซึ่งผู้เสียภาษีการลงทุน คือ “ผู้ที่มีรายได้จากการลงทุน” ไม่ว่าจะเป็นดอกเบี้ย เงินปันผล ส่วนลดหรือผลต่างระหว่างราคาไถ่ถอน และกำไรจากการขายหลักทรัพย์ครับ อย่างไรก็ดี สินทรัพย์บางประเภทบริษัทนายหน้าอาจรับผิดชอบหักภาษี ณ ที่จ่ายเพื่อนำส่งให้แก่หน่วยงานรัฐไว้แล้วครับ

     

    5 ภาษีการลงทุนที่นักลงทุนควรทราบ!

     

    แม้ว่าประเทศไทยจะมีการจัดเก็บภาษีการลงทุนจากบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่มีรายได้จากการลงทุน แต่ก็ไม่ใช่การลงทุนทุกประเภทที่จะต้องเสียภาษีดังกล่าวครับ ดังนั้น Thaiforexreview จะพาทุกท่านไปดูว่า สินทรัพย์ใดบ้างที่ต้องเสียและไม่ต้องเสียภาษีการลงทุน ดังนี้ครับ

     

    1. ภาษีกองทุนรวม

     

    อ้างอิงจากการแก้ไขประมวลรัษฎากรตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 52) พ.ศ. 2562 บุคคลทั่วไปที่มีรายได้จากการลงทุนในกองทุนรวม “มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” ดังนี้ครับ

     

    ภาษีกองทุนรวม

    บุคคลธรรมดา (นักลงทุนไทย)

    เงินปันผล (Dividend)

    หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตรา 10% 

    *หมายเหตุ หากเป็นกองทุนรวมตราสารหนี้จะได้รับการยกเว้นภาษี

    เงินได้จากการขายหน่วยลงทุน (Capital Gain)

    ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

    *หมายเหตุ หากขายกองทุนประเภท LTF และ RMF ก่อนกำหนด จะถือว่าผิดเงื่อนไขการลงทุน ซึ่งจะต้องเสียภาษีในอัตราก้าวหน้า

     

    โดยสรุป คือ หากคุณเป็นนักลงทุนที่ถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวม กำไรที่เกิดจากการซื้อขายกองทุนรวมจะได้รับการยกเว้นภาษี ขณะที่เงินปันผลจะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่อย่างไรก็ดี หากกองทุนนั้นไม่มีเงินปันผลก็ไม่จำเป็นต้องเสียภาษีใด ๆ ทั้งสิ้นนั่นเองครับ 

     

     

    2. ภาษีหุ้น/ สัญญาซื้อขายล่วงหน้า 

     

    อ้างอิงจากภาษีอากรกับการลงทุนในหลักทรัพย์ของกรมสรรพากร และร่างกฎหมายภาษีขายหุ้น (Financial Transaction Tax) หรือภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ล่าสุด บุคคลทั่วไปที่มีรายได้จากการลงทุนในหุ้น/ สัญญาซื้อขายล่วงหน้า “มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีอื่น ๆ” ดังนี้ครับ

     

    ภาษีหุ้น

    บุคคลธรรมดา (นักลงทุนไทย)

    เงินปันผล (Dividend)

    หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตรา 10%

    เงินได้จากการขายหน่วยลงทุน (Capital Gain)

    ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

    ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax: VAT)

    เก็บจากค่าธรรมเนียมในการซื้อขายหุ้น ซึ่งนักลงทุนจะต้องจ่ายในอัตรา 7%

    ภาษีอากรแสตมป์ (Stamp Duty)

    เก็บจากการโอนตราสารทางการเงิน โดยผู้โอนต้องติดอากรแสตมป์ในอัตรา 1 บาท สำหรับทุกจำนวน 1,000 บาท

    ภาษีธุรกิจเฉพาะ (Specific Business Tax)

    ถือเป็นภาษีจากธุรกรรมการขายหุ้น (Financial Transaction Tax) ในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งคำนวณจากรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น โดยจะต้องเสียภาษีในอัตรา 0.11% เมื่อรวมภาษีท้องถิ่น โดยให้บริษัทหลักทรัพย์เป็นผู้เก็บภาษีนี้นำส่งกรมสรรพากรทุกเดือน

    *หมายเหตุ ภาษีดังกล่าวได้รับการยกเว้นมาตั้งแต่ปี 2534 ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 240) พ.ศ.2534 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งคาดว่า ในช่วงแรกที่มีการกลับมาจัดเก็บภาษีนี้จะมีอัตราลด ดังนี้

    • ช่วงที่ 1 (ตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกามีผลบังคับใช้ ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566) จัดเก็บในอัตรา 0.055%

    • ช่วงที่ 2 (ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป) จัดเก็บในอัตรา 0.11%

     

    โดยสรุป คือ หากคุณเป็นนักลงทุนที่ถือหน่วยลงทุนในหุ้น คุณจะต้องเสียภาษี 2 ส่วน คือ 1) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่มีเงื่อนไขเช่นเดียวกับกองทุนรวม และ 2) ภาษีอื่น ๆ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีอากรแสตมป์ และภาษีธุรกิจเฉพาะ (ภาษีขายหุ้น) ซึ่งคาดว่าจะมีการปรับใช้ในปีนี้ครับ

     

     

    3. ภาษีเงินฝาก/ พันธบัตร/ ตราสารหนี้

     

    อ้างอิงจากภาษีอากรกับการลงทุนในหลักทรัพย์ของกรมสรรพากร บุคคลทั่วไปที่มีรายได้จากการลงทุนในเงินฝาก/ พันธบัตร/ ตราสารหนี้ “มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” ดังนี้ครับ

    1. ภาษีเงินฝาก

    ภาษีเงินฝาก

    บุคคลธรรมดา (นักลงทุนไทย)

    ดอกเบี้ย (Interest)

    หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตรา 15%

    *หมายเหตุ ผู้เสียภาษีนี้จะต้องมียอดรวมดอกเบี้ยทั้งหมดมากกว่า 20,000 บาท ภายใน 1 ปีปฏิทิน

     

    *ข้อควรรู้! การออมเงินกับธนาคารเพื่อรับดอกเบี้ยเงินฝาก หากยอดรวมดอกเบี้ยเกินเกณฑ์ที่กำหนด ผู้ฝากจะต้องเสียภาษีเงินได้ แต่หากคุณออมเงินกับบริษัทประกันในลักษณะประกันสะสมทรัพย์ คุณจะได้รับเงินออมควบคู่ไปกับความคุ้มครองโดยไม่ต้องเสียภาษี อีกทั้ง ยังช่วยลดหย่อนภาษีได้ หากมีอายุกรมธรรม์มากกว่า 10 ปีขึ้นไปครับ

     

    1. ภาษีพันธบัตร/ ตราสารหนี้

    ภาษีพันธบัตร/ ตราสารหนี้

    บุคคลธรรมดา (นักลงทุนไทย)

    ดอกเบี้ย (Interest)

    หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตรา 15%

    เงินปันผล (Dividend)

    หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตรา 10% 

    ภาษีอากรแสตมป์ (Stamp Duty)

    เก็บจากการโอนตราสารทางการเงิน โดยผู้โอนต้องติดอากรแสตมป์ในอัตรา 1 บาท สำหรับทุกจำนวน 1,000 บาท

     

    โดยสรุป คือ หากคุณเป็นนักลงทุนที่ได้รับดอกเบี้ยจากเงินฝากรวม 20,000 บาทขึ้นไปใน 1 รอบปีปฏิทิน คุณจะต้องเสียภาษีในอัตรา 15% ขณะเดียวกัน หากคุณลงทุนในพันธบัตร/ ตราสารหนี้ คุณก็จะต้องเสียภาษีจากการได้รับดอกเบี้ย 15% เงินปันผล 10% และหากมีการโอนตราสารทางการเงินก็จะมีค่าอากรแสตมป์ครับ

    อย่างไรก็ดี หากคุณได้รับดอกเบี้ยเงินฝากไม่ถึง 20,000 บาท หรือได้รับดอกเบี้ย/ เงินปันผล รวมกับรายได้อื่น ๆ ที่ใช้คำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไม่ถึงฐานภาษี 15% ก็มีสิทธิขอคืนเงินภาษีที่ชำระไว้เกินได้ โดยสามารถยื่นภาษีแสดงรายได้กับสรรพากรเพื่อขอคืนภาษีที่ที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย หรือจะเลือกปล่อยให้หักไปก็ได้เช่นกันครับ

     

     

    4. ภาษีคริปโตเคอร์เรนซี

     

    อ้างอิงจากพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2561 ล่าสุด บุคคลทั่วไปที่มีรายได้จากการลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซี “มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” ดังนี้ครับ

     

    ภาษีคริปโตเคอร์เรนซี

    บุคคลธรรมดา (นักลงทุนไทย)

    เงินส่วนแบ่งของกำไร หรือผลประโยชน์อื่นใดในลักษณะเดียวกันที่ได้จากการถือหรือครอบครองโทเคนดิจิทัล

    หักภาษีเงินได้ในอัตรา 15%

    ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโตเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล

    หักภาษีเงินได้ในอัตรา 15%

     

    โดยสรุป คือ หากคุณเป็นนักลงทุนที่ลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซี ซึ่งมีเงินได้จากการซื้อขายแลกเปลี่ยน คุณจะต้องเสียภาษีเงินได้ในอัตรา 15% โดยสามารถนำผลขาดทุนมาหักลบกับกำไรได้ในปีภาษีเดียวกัน

    อย่างไรก็ตาม หากนักลงทุนทำธุรกรรมผ่าน Exchange ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. คุณจะได้รับการยกเว้นภาษีหัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เนื่องจากไม่สามารถระบุตัวตนผู้รับเงินได้ครับ

     

     

    5. ภาษี Forex

     

    แม้ว่า Forex จะยังไม่ได้รับการรับรองในประเทศไทย แต่ก็ไม่ได้ถูกห้ามเช่นกัน ดังนั้น ผู้ที่มีเงินได้จากการเทรด Forex ก็ยังคง “มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” เนื่องจากเงินดังกล่าวถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 4 อันได้แก่ ดอกเบี้ย เงินปันผล เงินส่วนแบ่งกำไร เงินลดทุนครับ โดยรายละเอียดการจัดเก็บภาษีมีดังนี้

     

    เงินได้สุทธิ

    เงินได้สุทธิจำนวนสูงสุดของขั้น

    อัตราภาษี

    ภาษีสูงสุดในแต่ละขั้น

    ภาษีสะสมสูงสุดของขั้น

    0–150,000

    150,000

    5

    ยกเว้น

    0

    150,000–300,000

    150,000

    5

    7,500

    7,500

    300,000–500,000

    200,000

    10

    20,000

    27,500

    500,000–750,000

    250,000

    15

    37,500

    65,000

    750,000–1,000,000

    250,000

    20

    50,000

    115,000

    1,000,000–2,000,000

    1,000,000

    25

    250,000

    365,000

    2,000,000–5,000,000

    3,000,000

    30

    900,000

    1,265,000

    เกิน 5,000,000 ขึ้นไป

     

    35

     

     

     

    โดยสรุป คือ หากคุณเป็นนักลงทุนที่ลงทุนใน Forex คุณก็ยังคงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเช่นเดียวกับการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่น ๆ ซึ่งจะต้องยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด. 90 ภายในเดือนมกราคม – มีนาคม ของปีภาษีถัดไปครับ

     

    Forex มีโอกาสที่จะได้รับการรับรองในประเทศไทยหรือไม่!?

     

     

    ทำไมต้องเสียภาษีการลงทุน?

    หากถามว่า ทำไมต้องเสียภาษีการลงทุน? นั่นก็เพราะว่า พวกเราถือเป็นประชาชนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย และมีเงินได้ภายในหรือภายนอกประเทศตามเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนด ดังนั้น พวกเราจึงต้องเสียภาษีดังกล่าวนั่นเองครับ

     

    เลี่ยงหรือหนีภาษีได้หรือไม่?

    หลาย ๆ ท่านอาจเกิดคำถามว่า เราสามารถเลี่ยงหรือหนีภาษีได้หรือไม่? ซึ่งถ้าให้ผมตอบตรง ๆ ก็ต้องบอกว่า “ทำได้ครับ” แต่หากกรมสรรพากรตรวจสอบย้อนหลัง คุณจะต้องโดนค่าปรับอย่างมหาศาล ดังนั้น มันจึงเป็นการดีกว่าที่จะปฏิบัติตามระเบียบแบบแผน โดยการยื่นภาษีให้ถูกต้องครับ อย่างไรก็ดี เราสามารถวางแผนเพื่อลดหย่อนภาษีได้เช่นกัน

     

    การวางแผนลดหย่อนภาษี

    นักลงทุนส่วนใหญ่ในประเทศไทยมักจะมีรายได้จากช่องทางอื่น ๆ นอกจากการลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ ด้วย ดังนั้น การวางแผนเพื่อบริหารภาษีจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยทุกท่านสามารถลดหย่อยภาษีได้ดังนี้ครับ

    1. ลงทุนในสินทรัพย์ที่นำไปลดหย่อนภาษีได้ อาทิ กองทุนรวมประเภท SSF หรือ RMF โดยสามารถหักลดหย่อนได้สูงสุด 30% รวมไม่เกิน 500,000 บาท

    2. วางแผนซื้อประกันเพื่อนำไปลดหย่อนภาษี อาทิ ประกันชีวิตแบบตลอดชีพหรือชั่วระยะเวลา ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ ประกันชีวิตควบการลงทุน โดยสามารถหักลดหย่อนได้สูงสุด 100,000 บาท และประกันชีวิตแบบบำนาญ ที่สามารถหักลดหย่อนได้สูงสุด 15% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท

    3. การกู้เงินเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ สามารถนำดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัยไปลดหย่อนภาษีได้ตามจริง ไม่เกิน 100,000 บาท

    ทั้งหมดข้างต้นนี้ ถือเป็นรายการที่สามารถช่วยลดหย่อนภาษีได้ แต่อย่างไรก็ดี ทุกท่านจำเป็นต้องศึกษารายละเอียดและเงื่อนไขให้ครบถ้วนก่อนทำธุรกรรมใด ๆ ครับ แต่ก็ถือเป็นทางเลือกการลดหย่อนภาษีที่น่าสนใจ เพราะนอกจากจะช่วยประหยัดเงินแล้ว เรายังได้สิทธิพิเศษอื่น ๆ จากรายการดังกล่าวด้วยครับ

     

    สรุป

    โดยสรุป ภาษีการลงทุนถือเป็นภาษีเงินได้ส่วนบุคคลประเภทหนึ่ง ซึ่งประชาชนชาวไทยทั่วไปที่มีรายได้จากการลงทุนจะต้องเสียภาษีดังกล่าว ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม แตกต่างตามสินทรัพย์ที่ลงทุนครับ ดังนั้น ทุกท่านจึงควรศึกษารายละเอียดการจัดเก็บภาษีในแต่ละสินทรัพย์ให้รอบคอบ และอย่าลืมวางแผนลดหย่อนภาษีให้ดีด้วยนะครับ ด้วยความปรารถนาดีจาก Thaiforexreview

     

    Source: กรมสรรพากร 1, กรมสรรพากร 2, กรมสรรพากร 3, กรมสรรพากร 4, SET, Krungsri, Krungthai, Trade With Auntie, PeerPower, Wealth Me Up

    ___________________________________

    หากคุณมีความสนใจในเรื่องของการลงทุนเหมือนกันกับผม สามารถติดตาม ThaiForexReview

    ติดตามการเคลื่อนไหวของตลาดการลงทุนได้ที่ : News

    อ่านบทความสาระดี ๆ ได้ที่ : Blogs

    รีวิวโบรกเกอร์ยอดนิยม : Top Brokers

    investing

    แนะนำโบรกเกอร์สำหรับคุณ

    ข้อจำกัดด้านความปลอดภัย

    Thaiforexreview.com จะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสียหรือความเสียหายใด ๆ
    ที่เกิดจากการพึ่งพาข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้ รวมถึงข่าวการตลาด การวิเคราะห์ สัญญาณการซื้อขาย และบทวิจารณ์โบรกเกอร์ Forex ข้อมูลที่อยู่ในเว็บไซต์นี้อาจไม่เป็นปัจจุบัน และการวิเคราะห์เป็นความคิดเห็น ของ Thaiforexreview.com ไม่มีการการันตีใด ๆ

    การซื้อขายสกุลเงินในตลาด Forex มีความเสี่ยงสูง ก่อนตัดสินใจซื้อขาย Forex หรือใช้เครื่องมือทางการเงินอื่น ๆ ควรพิจารณาวัตถุประสงค์การลงทุน ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงอย่างรอบคอบ เรามุ่งเน้นเพื่อเสนอข้อมูล ที่สำคัญเกี่ยวกับโบรกเกอร์ทั้งหมดที่เราตรวจสอบเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องที่สุด

    © Copyright Thaiforexreview 2023. All rights reserved