List of content
Fed ขึ้นดอกเบี้ย – การตัดสินใจที่ “ถูกต้อง” หรือ “ผิดพลาด” ?!
ในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2566 ราคาหุ้นมีการปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะดัชนี S&P 500 ที่เพิ่มสูงถึง 3.5% นับเป็นการเพิ่มขึ้น 7% จากต้นปี 2566 และเพิ่มขึ้น 14.9% จากเดือนตุลาคม 2565 ความผันผวนของตลาดส่วนใหญ่มาจากการต่อสู้กับเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อีกทั้ง Fed ยังพยายามลดอัตราเงินเฟ้อด้วยนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม มีคนบางกลุ่มที่ตำหนิว่า “การตัดสินใจของ Fed คือ ความผิดพลาด” โดยมีการชี้ให้เห็นว่า การพยายามต่อสู้กับเงินเฟ้ออย่างดื้อรั้นของ Fed ด้วยการออกนโยบายการเงินแบบกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นล่าช้าเกินไป ครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถาม CNBC Fed Survey กล่าวว่า ความเสี่ยงเชิงระบบในระบบธนาคารควรมีความสำคัญเหนืออัตราเงินเฟ้อ
ท่ามกลางความขัดแย้งเกี่ยวกับการจัดการปัญหาเงินเฟ้อ ในบทความนี้ เราจะมาวิเคราะห์กันว่า หาก Fed เริ่มใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจตั้งแต่เงินเฟ้อเริ่มร้อนแรงในปี 2564 เศรษฐกิจในวันนี้จะเป็นไปในทิศทางใด และการตัดสินใจของ Fed ส่งผลอย่างไร รวมถึงการตัดสินใจของ Fed เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วหรือไม่
หาก Fed ออกนโยบายเร็วขึ้น ผลจะเป็นอย่างไร ?
นักวิเคราะห์จาก Yahoo Finance ให้ความเห็นว่า หากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของ Fed ได้ผล และอัตราเงินเฟ้อลดลงอย่างรวดเร็ว มันเป็นไปได้ว่าเศรษฐกิจอาจจะไม่แข็งแกร่งอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นนั้นจะส่งผลให้อุปสงค์ลดลง ซึ่งหมายความว่าตลาดแรงงานจะลดลงและไม่แข็งแกร่งอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
แม้ว่าคนบางกลุ่มอาจได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อ แต่คนที่ได้งานทำในช่วงเงินเฟ้อก็มีจำนวนมากเช่นกัน ซึ่งเงินที่ได้รับจากการจ้างงานใหม่เหล่านี้กำลังช่วยคงอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับสูง เนื่องจากเป็นการเพิ่มความต้องการให้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น
โดยข้อมูลอ้างอิง คือ ตัวเลขอัตราการจ้างงานในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งอยู่ที่ 155 ล้านคน ขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 3.6% ใกล้เคียงกับระดับก่อนเกิดโรคระบาดโควิด-19 ที่ 3.5% เมื่อตัดภาพไปที่อัตราเงินเฟ้อในเดือนมิถุนายน 2564 ที่สูงกว่า 5% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2551 ส่วนอัตราการจ้างงานกลับต่ำกว่า 147 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม มันเป็นเรื่องยากมากที่จะจินตนาการถึงการบรรลุเป้าหมายที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลง ขณะที่อัตราการจ้างงานยังคงสูงใกล้เคียงกับระดับ 155 ล้านคน เราอาจจะเผชิญกับตัวเลขเงินเฟ้อที่น้อย แต่ตัวเลขการจ้างงานก็ต่ำเช่นกันกับในปี 2564 ดังนั้น มันจึงเป็นตัวเลือกที่สำคัญที่ Fed จะต้องตัดสินใจ
“เงินเฟ้อสูง” หรือ “การว่างงานสูง” อะไรแย่กว่ากัน ?
มันกลายเป็นที่ถกเถียงกันว่า ตัวเลือก “เงินเฟ้อสูง” หรือ “การว่างงานสูง” ดีกว่ากัน และจะดีกว่าไหม? หากมีอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับปานกลาง โดยมีการจ้างงาน 147 ล้านคน ขณะที่อีก 8 ล้านคนต้องดิ้นรนกับการว่างงาน หรือจะดีกว่าหากมีการจ้างงาน 155 ล้านคนร่วมต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น?
คำถามดังกล่าวเป็นคำถามเชิงปรัชญาที่ไม่สามารถหาคำตอบที่ชัดเจนได้ เนื่องจากความคิดเห็นของคนหลายกลุ่มที่ขัดแย้งกัน เราจึงของยกตัวอย่างความคิดเห็นของ Elizabeth Warren วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ ที่มีการพูดถึงเรื่องนี้ว่า…
“การคาดการณ์ของ Fed ในเวลานั้น สันนิษฐานว่า อัตราการว่างงานจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.6% ภายในสิ้นปี ซึ่งมันอาจหมายถึงคน 2 ล้านคนจะต้องตกงาน นับเป็นการสังเกตที่ส่งผลกระทบรุนแรงแต่ก็ยุติธรรม
แต่ในทางกลับกัน มันจะดีกว่าไหม? ถ้าระดับการจ้างงานไม่เคยแข็งแกร่งเหมือนทุกวันนี้ ซึ่งมีการจ้างงาน 2 ล้านตำแหน่ง ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา จะดีกว่าการไม่เคยจ้างคน 2 ล้านคนนั้นเลย? หรือดีกว่าที่จะจ้างคน 2 ล้านคน แล้วเลิกจ้างในเวลาไม่กี่เดือน?”
ความหมายของ Elizabeth Warren คือ หากคุณต้องการโต้แย้งว่า Fed กำลังดำเนินนโยบายการเงินในทางที่ผิด นั่นก็หมายความว่า คุณกำลังบอกเป็นนัยว่าการสร้างสภาพแวดล้อมที่นำไปสู่การจ้างงานหลายล้านตำแหน่งในอดีตนั้นเป็นความผิดพลาดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
“ผู้แพ้” จากการตัดสินใจของ Fed
ด้วยเหตุนี้ Fed จึงตัดสินใจที่จะดำเนินนโยบายแบบแข็งกร้าวเพื่อควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับ 2% จากปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 6% (ข้อมูลล่าสุดในเดือนมีนาคม) ทำให้อัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงถึง 5% สูงสุดในรอบ 17 ปี ส่งผลให้มีผู้ที่ได้รับผลกระทบจนถึงขนาด “แพ้ยับเยิน” จากกรณีนี้ แต่เรามาดูผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed กันก่อนครับ
1. นักลงทุนหุ้นและพันธบัตร
อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นมักจะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้เป็นพิเศษ เพราะหาก Fed ขึ้นดอกเบี้ยก็จะทำให้ต้นทุนจากการกู้ยืมเงินในการทำธุรกิจของบริษัททั้งจากภาครัฐและเอกชนสูงขึ้น ซึ่งอาจหมายถึงรายได้ ตลอดจนอัตราการเติบโตและมูลค่าหุ้นของบริษัทที่ลดลง ดังนั้น นักลงทุนหุ้นจึงหวาดกลัวการขึ้นดอกเบี้ยของเหล่าธนาคารกลาง
ขณะที่ตลาดตราสารหนี้ก็ได้รับผลกระทบหนักเช่นกัน เพราะราคาของพันธบัตรที่มีอยู่จะลดลงทันที นั่นเป็นเพราะพันธบัตรใหม่จะเข้าสู่ตลาดในไม่ช้า โดยเสนอการจ่ายอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นแก่นักลงทุน ดังนั้น ผู้ที่ถือพันธบัตรฉบับเก่า ตลอดจนหลักทรัพย์ที่มีการอ้างอิงกับพันธบัตรฉบับเก่าจะได้ผลกระทบโดยตรงทันที
2. ผู้กู้และจำนอง
แน่นอนว่าเมื่ออัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น กลุ่มธุรกิจที่มีการกู้ยืมและจำนองก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยเฉพาะการกู้ยืมหรือจำนองด้วยอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ อาทิ บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อเพื่อการศึกษา สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์ และสินเชื่อเพื่อธุรกิจ สาเหตุเป็นเพราะการทำธุรกรรมประเภทนี้จะมีการอ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ยขณะที่ทำสัญญา ดังนั้น หากธนาคารกลางมีการขึ้นดอกเบี้ย ผู้กู้และผู้จำนองจะเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรง
จากผู้ได้รับผลกระทบทั้ง 2 กลุ่ม ยังมีตัวกลางที่ได้รับผลกระทบแบบ 2 ทาง ซึ่งเชื่อว่าหลายคนคงเห็นข่าว “การล่มสลายของ Silicon Valley Bank (SVB)” ธนาคารใหญ่อันดับ 16 ของสหรัฐฯ กันแล้ว แม้ว่าการขึ้นดอกเบี้ยจะไม่ใช่เหตุผลทั้งหมด แต่ก็มีส่วนอย่างยิ่งที่ทำให้ SVB เดินทางมาถึงจุดจบเช่นนี้ และกระทบเป็นวงกว้างต่อภาคธนาคารทั่วยุโรป
สาเหตุการล่มสลายของ SVB เกิดจากการไม่สามารถปล่อยสินเชื่อได้ไม่มากเท่าที่ควร ทำให้ต้องนำเงินไปลงทุนในตราสารหนี้ความเสี่ยงต่ำอย่างพันธบัตรรัฐบาลแทน จากนั้นเมื่อ Fed ปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อ ก็ทำให้ตราสารหนี้ฉบับเก่าเหล่านั้นมีมูลค่าลดลง ซึ่งเมื่อประกอบกับอุตสาหกรรมสตาร์ทอัปด้านเทคโนโลยีที่เข้าสู่ช่วงขาลง ต้องการเงินสดเพื่อไปลงทุน SVB จึงจำใจต้องขายตราสารหนี้เหล่านั้นแบบขาดทุน จนนำไปสู่ปัญหาด้านสภาพคล่องและล้มละลายในที่สุด
การล่มสลายของ SVB และธนาคารอื่น ๆ ในภายหลัง ถือเป็นเครื่องเตือนใจว่า สถาบันที่เชื่อถือได้สามารถล้มลงได้รวดเร็วเพียงใด และเงินหลายพันล้านดอลลาร์ของผู้ฝากตกอยู่ในความเสี่ยงขนาดไหน อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่งกล่าวว่า ภัยพิบัติทางการเงินเหล่านี้สามารถป้องกันได้ หาก Fed มีการกำกับดูแลที่ดีขึ้น
ภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกของ Fed
แม้ Elizabeth Warren จะกล่าวเช่นนั้น แต่ Fed ก็ยังต้องเผชิญกับภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกจากการตัดสินใจ เนื่องจาก Fed จำเป็นต้องสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ตลาด ขณะเดียวกันก็ต้องต่อสู้กับเงินเฟ้ออย่างหนักเพื่อทำการชะลอเศรษฐกิจแบบ Soft Lading นอกจากนี้ ยังต้องลดงบดุล รวมถึงซื้อพันธบัตรที่เท่าทุนหรือต่ำกว่าราคาหน้าตั๋วจากธนาคาร เพื่อกอบกู้วิกฤติธนาคารที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว กลายเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของ Fed
ปัจจัยหลายอย่างได้กดดันให้ Fed จำเป็นต้องดำเนินนโยบายทางการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินควบคู่ไปกับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ทำให้ Fed ต้องเลือกอีกครั้งว่า จะขึ้นดอกเบี้ยเพื่อประคับประคองการต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อ หรือหยุดขึ้นดอกเบี้ยชั่วคราวเพื่อให้ตลาดมีพื้นที่ในการรับมือกับผลกระทบจากการล้มเหลวของภาคธนาคาร ดังนั้น มันจึงเป็นเรื่องยากที่ Fed จะต้องตัดสินใจ แต่ปัญหาอยู่ที่ Fed ไม่มีข้อมูลหลักฐานเพียงพอที่จะมั่นใจได้ว่า ความเข้มงวดด้านสินเชื่อจะสามารถสลายเงินเฟ้อได้โดยไม่ต้องขึ้นดอกเบี้ยอีก
ด้าน Mohamed El-Erian หัวหน้าที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของ Allianz กล่าวว่า หาก Fed ตัดสินใจหยุดขึ้นดอกเบี้ยชั่วคราว เขาเกรงว่าผลที่ตามมาจะกลายเป็นภาวะชะงักงัน การตัดสินใจของ Fed ที่จะลดการต่อสู้กับเงินเฟ้อไม่เป็นผลดีนักในระยะยาว เพราะปัญหาจะถูกฝังอยู่ในระบบต่อไป ต้นทุนที่จะต้องใช้ก็จะยิ่งสูงขึ้นตามระยะเวลาด้วยเช่นกัน
ความล้มเหลวในการบริหารงานของ Fed ?
ภารกิจของ Fed คือ การสร้างเสถียรภาพให้แก่เศรษฐกิจสหรัฐฯ กำจัดภัยคุกคามทั้งหมดที่อาจส่งผลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น มันจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ Fed ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยในตอนแรก
แต่ปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยเดินทางมาถึง 5.00% แตกต่างจากเป้าหมายดอกเบี้ย (Terminal Rate) ที่ Fed คาดไว้ในตอนแรกเริ่มว่าจะขึ้นดอกเบี้ยสูงสุดที่ 2.80% ก่อนจะขยับฐานมาที่ 4.50% ในช่วงปลายปี 2565 กล่าวได้ว่า อัตราดอกเบี้ยเลยจุดสูงสุดที่ Fed ระบุไว้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่อัตราเงินเฟ้อกลับยังไม่ลดลงมากนัก อีกทั้ง ยังมีวิกฤติธนาคารที่เข้ามาเป็นตัวชี้วัดการดำเนินงานของ Fed อย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย