List of content

    ทำความรู้จัก IMF กองทุนการเงินที่ถือครองทองคำอันดับ 3 ของโลก


    IMF คือ

    องค์กรปล่อยเงินกู้ระดับโลก ใจบุญหรือหวังผล?! Thaiforexreview จะพาไปทำความรู้จัก IMF หรือที่รู้จักกันในชื่อ “กองทุนการเงินระหว่างประเทศ” องค์กรที่คอยให้ความช่วยเหลือในช่วงเศรษฐกิจย่ำแย่เพื่อขจัดความยากจน IMF มีวัตถุประสงค์อย่างไร, หาเงินทุนมาจากไหน และถือครองทองคำเป็นอันดับ 3 ของโลกจริงหรือไม่ ผมจะพาทุกท่านไปติดตามกันครับ

      

    IMF คืออะไร?

    IMF คืออะไร?

    IMF ย่อมาจาก International Monetary Fund คือ กองทุนการเงินระหว่างประเทศที่ก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อปี 1945 เพื่อสร้างโอกาสและการเติบโตให้แก่เศรษฐกิจโลกอย่างมั่นคงยั่งยืนด้วยการสนับสนุนด้านนโยบายให้แก่ประเทศสมาชิกครับ ปัจจุบัน IMF มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา และมีฐานะเป็นทบวงการชำนัญพิเศษของสหประชาชาติครับ

     

    ประวัติความเป็นมาของ IMF

     

    IMF มีประวัติความเป็นมาค่อนข้างยาวนาน และมีส่วนร่วมในหลาย ๆ เหตุการณ์สำคัญตั้งแต่อดีตเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันครับ ไม่ว่าจะเป็น

    • เหตุการณ์เงินเฟ้อครั้งใหญ่ (The Great Inflation)
    • วิกฤติราคาน้ำมัน (Oil Shock)
    • วิกฤติต้มยำกุ้ง
    • วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ (Subprime Crisis)
    • โรคระบาดโควิด-19

    แต่จุดเริ่มต้นที่แท้จริงของ IMF เริ่มมาจากแนวคิดช่วงเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในทศวรรษ 1930 เพราะต้องการหลีกเลี่ยงความล้มเหลวแบบเดิม ๆ ดังนั้น หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ประเทศผู้นำพันธมิตรทั้ง 40 ประเทศ จึงมีการจัดประชุมด้านการเงินของสหประชาชาติ (Bretton Woods Conference) ในเดือนกรกฎาคม 1944 เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสงคราม และมีแนวคิดในการสร้างระบบการเงินระหว่างประเทศที่ชัดเจนขึ้นครับ

    จากนั้น IMF จึงได้ก่อตั้งอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคม 1945 ด้วยการลงนามข้อตกลงว่าด้วยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งขณะนั้นมีประเทศสมาชิก 29 ประเทศ

      

    วัตถุประสงค์ของการก่อตั้ง IMF

     

    วัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง IMF ตามข้อตกลงว่าด้วยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ มีดังนี้

    1. สนับสนุนความร่วมมือทางการเงินระหว่างประเทศ
    2. สนับสนุนการค้าระหว่างประเทศให้ขยายตัวอย่างสมดุล 
    3. ส่งเสริมเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ 
    4. สนับสนุนการจัดตั้งระบบการชำระเงินระหว่างประเทศอย่างเป็นระเบียบ
    5. สนับสนุนและให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศสมาชิกที่ประสบปัญหาดุลการชำระเงิน

      

    IMF มีบทบาทสำคัญอย่างไร?

    IMF มีบทบาทสำคัญอย่างไร?

    จากจุดประสงค์ในข้างต้น ทำให้ IMF มีบทบาทหน้าที่ที่สำคัญ 3 ประการ คือ

    การสอดส่องดูแลเศรษฐกิจ

    IMF จะมีการสอดส่องดูแลนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและการเงินของประเทศสมาชิกอย่างใกล้ชิด และมีการประชุมหารือกับประเทศสมาชิกเป็นประจำทุกปี เพื่อติดตามและประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ตลอดจนภาวะเศรษฐกิจระดับภูมิภาคและระดับโลกต่อไปครับ 

    โดยทั้งหมดนี้ IMF จะมีการเผยแพร่ผลการประเมินทุกครึ่งปีในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) และรายงานเสถียรภาพการเงินโลก (Global Financial Stability Report) ครับ

    ความช่วยเหลือทางการเงิน

    หากประเทศสมาชิกประสบปัญหาทางการเงิน IMF จะมีการให้ความช่วยเหลือทางการเงินผ่านการกู้ยืมเงิน เพื่อช่วยฟื้นฟูเสถียรภาพและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่อย่างไรก็ดี นอกจากเงินกู้ที่ประเทศผู้กู้ยืมจะต้องชำระคืนให้แก่ IMF แล้ว ประเทศผู้กู้ยืมยังต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขและมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาทางการเงินภายในประเทศได้ครับ

     

    ตัวอย่างเช่น การกู้ยืมเงิน 17,200 ล้านดอลลาร์จาก IMF ของไทยในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งปี 1997 เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจแบบเร่งด่วน ซึ่งมีเงื่อนไขสำคัญ คือ 

    1. ไทยต้องเปิดเสรีการค้าและการลงทุน 
    2. ยกเลิกกฎระเบียบต่าง ๆ 
    3. ต้องแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นเอกชน

     

    ความช่วยเหลือทางวิชาการ

    นอกจากความช่วยเหลือทางการเงินแล้ว IMF ยังมอบความช่วยเหลือทางวิชาการให้แก่รัฐบาลและธนาคารกลางของประเทศสมาชิก เพื่อเพิ่มศักยภาพในด้านต่าง ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็น

    1. ให้คำแนะนำเชิงนโยบายแก่ประเทศสมาชิก เช่น นโยบายการเงินและนโยบายสถาบันการเงิน, นโยบายการคลังและการบริหารหนี้สาธารณะ, สถิติข้อมูล และกฎหมายเศรษฐกิจการเงิน เป็นต้น
    2. จัดหลักสูตรฝึกอบรมและสัมมนาในสาขาความเชี่ยวชาญต่าง ๆ
    3. เป็นตัวกลางในการเจรจากับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกในด้านนโยบายเศรษฐกิจ และประเด็นที่อาจส่งผลต่อเสถียรภาพของระบบการเงินและสถาบันการเงินระหว่างประเทศ

    บทบาทหน้าที่ของ IMF ทั้งหมดที่กล่าวมา ล้วนมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างเสถียรภาพการเงินโลกและขจัดความยากจน ซึ่งหากประเทศสมาชิกต้องการความช่วยเหลือทั้งหมดนี้ก็อาจจะต้องแลกมากับผลกระทบบางประการครับ ดังคำกล่าวที่ว่า ‘ไม่มีสิ่งใดได้มาฟรี

      

    ความช่วยเหลือจาก IMF คือสัญญาณเตือนที่อันตราย

     

    เนื่องจากการให้ความช่วยเหลือเพื่อสร้างเสถียรภาพให้แก่การเงินโลก ถือเป็นหนึ่งในจุดประสงค์หลักของ IMF ที่ค่อนข้างชัดเจน และหลายท่านอาจมองว่า การกระทำของ IMF นั้นน่านับถือไม่น้อย แต่หากมองในความเป็นจริงแล้ว IMF ก็ไม่ต่างจากนายหน้าเงินกู้ระดับโลกครับ เพราะ IMF ไม่ใช่องค์กรการกุศลแบบให้เปล่า ดังนั้น ความช่วยเหลือจาก IMF จึงไม่ใช่สิ่งที่ได้มาฟรี นอกจากดอกเบี้ยเงินกู้ที่ประเทศสมาชิกจะต้องจ่ายแล้ว ยังมีเงื่อนไขอื่น ๆ ที่ประเทศผู้กู้ต้องปฏิบัติตามอีกด้วย

    แม้ว่ามันจะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างสมเหตุสมผล แต่ทราบหรือไม่ครับว่า ความช่วยเหลือของ IMF ได้สร้างสัญญาณเตือนที่อันตรายเป็นอย่างมากให้แก่ระบบการเงินโลก กล่าวคือ การให้กู้ยืมเงินของ IMF นั้น ถือเป็นการให้ความสนับสนุนโดยไม่มีการพิจารณาถึงความเหมาะสมที่รอบด้าน เพราะประเทศผู้กู้ส่วนมากจะวนเวียนอยู่แต่หน้าเดิม ๆ ที่มีปัญหาทางการเงินและไม่มีโครงการปรับโครงสร้างหนี้ก่อน ซึ่งประเทศกลุ่มนี้จัดเป็นผู้กู้ที่มีความเสี่ยงสูงนั่นเองครับ

    นอกจากประเด็นดังกล่าวแล้ว IMF ยังถูกตั้งคำถามหลายครั้งเรื่องเงื่อนไขในการให้กู้ยืมเงิน เพราะบางครั้งเงื่อนไขก็ไม่สมเหตุสมผล ไม่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ครับ

    ตัวอย่างเช่น การให้กู้ยืมเงินแก่อาร์เจนตินาในปีที่ผ่านมาที่สูงเป็นประวัติการณ์ถึง 56,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งประเด็นที่น่าจับตามอง คือ การชำระหนี้รายปีของอาร์เจนตินานั้นเกินขีดจำกัดของ IMF เป็นอย่างมากครับ ดังนั้น การกระทำของ IMF จึงถูกตั้งคำถามหลายครั้งว่าเป็นการให้กู้ยืมโดยประมาท และสร้างอันตรายทางศีลธรรมแก่ระบบหนี้ภาครัฐครับ

     

    ประเทศผู้กู้ IMF ขาประจำ

     

    1. อาร์เจนตินา

    2. อัฟกานิสถาน

    3. แองโกลา

    4. แคเมอรูน

    5. สาธารณรัฐแอฟริกากลาง

    6. ชาด

    7. เอกวาดอร์

    8. อียิปต์

    9. กานา

    1. จอร์แดน

    2. มอริเตเนีย

    3. มองโกเลีย

    4. ปากีสถาน

    5. เซาตูเมและปรินซิปี

    6. เซียร์ราลีโอน

    7. ศรีลังกา

    8. ตูนิเซีย

    9. ยูเครน

     

     

    เงินทุนของ IMF มาจากไหน?

    เงินทุนของ IMF มาจากไหน?

    โดยปกติแล้ว เงินทุนของ IMF มาจาก 2 ส่วนหลัก ๆ คือ ค่าธรรมเนียมสมาชิกและการกู้ยืมเงินครับ แต่อย่างไรก็ดี แหล่งเงินทุนของ IMF ยังครอบคลุมถึงช่องทางอื่น ๆ ด้วยดังต่อไปนี้ครับ

    1. ค่าธรรมเนียมสมาชิก

    เงินทุนหลัก ๆ ของ IMF มาจากค่าธรรมเนียมที่ประเทศสมาชิกจ่าย ทั้งเพื่อเข้าร่วมหรือยกระดับโควตาของตัวเอง ซึ่งค่าธรรมเนียมในการเข้าร่วม IMF จะถูกจ่ายผ่านรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งดังต่อไปนี้ครับ

    • สิทธิพิเศษถอนเงิน (Special Drawing Rights: SDR)
    • สกุลเงินสำคัญหรือสกุลเงินของประเทศนั้น ๆ

    โดยจำนวนเงินทุนที่ประเทศสมาชิกจ่ายให้แก่ IMF จะส่งผลต่อ “โควตา” ที่ประเทศนั้น ๆ จะได้รับต่อไปด้วยเช่นกันครับ

    1. ดอกเบี้ยเงินกู้

    เงินทุนอีกส่วนของ IMF มาจากดอกเบี้ยที่ประเทศสมาชิกมีการกู้ยืมเงินไป และชำระเงินต้นคืนพร้อมดอกเบี้ยครับ ซึ่งดอกเบี้ยในส่วนนี้อาจชำระคืนได้ทั้งเป็นเงินตรา, ทองคำ หรืออื่น ๆ ตามที่ IMF เห็นสมควรครับ

    1. การซื้อขายสินทรัพย์

    ในบางกรณี IMF อาจตัดสินใจขายสินทรัพย์ที่ตนถือครอง เพื่อเพิ่มรายได้ที่ใช้สนับสนุนโครงการทางการเงินต่าง ๆ หรืออาจตัดสินใจลงทุนในสินทรัพย์บางประเภทเพื่อเพิ่มผลตอบแทนในอนาคตด้วยครับ

    1. การกู้ยืมเงิน 

    หากเงินทุนไม่เพียงพอ IMF อาจจำเป็นต้องกู้ยืมเงินเพื่อนำมาเสริมเงินทุนของตนเอง และเพื่อป้องกันความเสี่ยงในระบบการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งมีการกู้ยืมเงินทั้งหมด 2 แผน คือ

    • โครงการภาคีความตกลงกู้ยืมเงินทั่วไป (General Arrangements to Borrow: GAB)
    • โครงการภาคีความตกลงกู้ยืมเงินฉบับใหม่ (New Arrangements to Borrow: NAB)

    ทุกท่านทราบหรือไม่ครับว่า หากรวมเงินที่ได้มาจากการกู้ยืมทั้ง 2 แผนเข้าด้วยกัน IMF จะมีเงินทุนที่สูงถึง 34,000 ล้าน SDR (ราว 46,000 ล้านดอลลาร์) ในการเป็นทุนให้ประเทศสมาชิกกู้ยืมต่อไปครับ

      

    IMF มีเงินทุนเท่าไหร่?

     

    ปัจจุบัน (30 มิถุนายน 2023) IMF มีเงินทุนรวมทั้งหมดประมาณ 983 พันล้าน SDR โดยแบ่งเป็นทุน 3 ประเภท ดังนี้ครับ

    • โควตาสมาชิก 477 พันล้าน SDR
    • New Arrangements to Borrow (NAB) 364 พันล้าน SDR
    • Bilateral Borrowing Agreements (BBAs) 141 พันล้าน SDR

    เงินทุนของ IMF จะถูกเก็บรวบรวมผ่านสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ ทั้งเงินสด, สิทธิพิเศษต่าง ๆ รวมถึง “ทองคำ” ด้วยครับ

     

    IMF มีเงินทุนเท่าไหร่?

     

    การถือครองทองคำของ IMF

     

    ทุกท่านทราบหรือไม่ครับว่า IMF มีปริมาณการถือครองทองคำมากเป็นอันดับ 3 ของโลก หากเทียบกับอัตราส่วนที่ประเทศต่าง ๆ มีการถือครองทองคำสำรองอยู่ในปัจจุบัน โดยปริมาณทองคำที่ IMF ถือครองอยู่มีมากถึง 90.5 ล้านออนซ์ หรือ 2,814.1 ตัน เรียกได้ว่า มากกว่าประเทศอิตาลีที่อยู่ในอันดับ 3 อีกครับ

     

    อันดับ

    ประเทศ

    ปริมาณทองคำสำรอง

    1

    สหรัฐฯ

    8,133.46 ตัน

    2

    เยอรมนี

    3,354.89 ตัน

    3

    อิตาลี

    2,451.84 ตัน

    4

    ฝรั่งเศส

    2,436.81 ตัน

    5

    รัสเซีย

    2,326.52 ตัน

     

    โดยปริมาณทองคำที่ IMF เก็บสะสมไว้นั้นก็ล้วนมาจากค่าธรรมเนียมที่ประเทศสมาชิกจ่ายเข้ามา, ดอกเบี้ยการกู้ยืมเงิน และการซื้อขายทองคำของ IMF เอง ซึ่งการเก็บสะสมทองคำของ IMF นั้น มีจุดประสงค์เพื่อช่วยให้หลาย ๆ ประเทศผ่านปัญหาทางการเงิน หรืออาจเรียกง่าย ๆ ว่า “การให้กู้” ในช่วงหลายศตวรรษที่ผ่านมาครับ 

    ด้วยเหตุนี้เอง จึงไม่น่าแปลกใจที่ IMF ในฐานะนายหน้าให้กู้ยืมเงินรายใหญ่ระดับโลก จะกลายเป็นหนึ่งในผู้ถือครองทองคำรายใหญ่ที่สุดในโลกใช่ไหมล่ะครับ

     

     

    โควตาของ IMF สำคัญอย่างไร?

    โควตาของ IMF สำคัญอย่างไร

    โควตาของ IMF มีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อประเทศสมาชิก เนื่องจากมันจะช่วยกำหนดสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ และการเข้าถึงเงินทุนในระดับที่แตกต่างกัน ดังนี้ครับ

    1) คะแนนเสียง

    โดยปกติแล้ว ประเทศสมาชิกจะมีคะแนนเสียงพื้นฐานเท่ากันที่จำนวน 250 คะแนน แต่หากมีโควตา คะแนนเสียงก็จะเพิ่มขึ้น 1 คะแนนต่อโควตา 100,000 SDR ครับ ซึ่งคะแนนเสียงนี้จะส่งผลต่อการลงคะแนนเสียงแบบถ่วงน้ำหนักด้วย เพราะหากมีโควตามากก็จะมีคะแนนเสียงมาก เช่นเดียวกันครับ หากประเทศใดมีโควตาน้อยก็จะสามารถลงคะแนนเสียงได้น้อยลงตามไปด้วย

    2) สิทธิพิเศษถอนเงิน (SDR)

    สิทธิพิเศษถอนเงิน (Special Drawing Rights: SDR) เป็นหน่วยเงินที่ออกโดย IMF ซึ่งสามารถเบิกมาใช้ได้โดยไม่มีเงื่อนไข ไม่ว่าจะใช้เพื่อสร้างเสถียรภาพทางการเงิน, งบประมาณ หรือคืนเงินกู้ก็ได้ เพราะ SDR ไม่ถือเป็นเงินที่แท้จริง ทำให้ไม่สร้างแรงกดดันเงินเฟ้อต่อเศรษฐกิจโลก โดยประเทศสมาชิกสามารถใช้ SDR ได้ตามสัดส่วนโควตา 

     

    ข้อควรรู้
     

    1 SDR จะมีค่าเท่ากับ 1.41733 ดอลลาร์ 

    โดยมีการคำนวณจากค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของ 5 สกุลเงินหลักของโลก ได้แก่ เงินดอลลาร์สหรัฐ, ยูโร, หยวน, เยน และปอนด์ ตามลำดับครับ

     
     

     

    3) วงเงินกู้

    ประเทศสมาชิกสามารถกู้เงินจาก IMF ได้ไม่เกินร้อยละ 100 ของจำนวนโควตาต่อปี และรวมกันไม่เกินร้อยละ 300 ของจำนวนโควตา ทำให้ยิ่งมีโควตามากเท่าไหร่ก็จะยิ่งเข้าถึงระดับเงินทุนที่มากขึ้นได้นั่นเองครับ

    อย่างไรก็ดี โควตาของ IMF นั้น สามารถกำหนดได้จากขนาดทางเศรษฐกิจของประเทศนั้น ๆ เป็นหลักครับ แต่ค่าธรรมเนียมสมาชิกก็มีส่วนสำคัญเช่นกัน ดังนั้น IMF จึงมีการทบทวนโควตาของประเทศสมาชิกทุก ๆ 5 ปี เพื่อปรับปรุงสิทธิให้เหมาะสมกับฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศนั้น ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงเพื่อยกระดับเงินทุนของ IMF จากค่าธรรมเนียมนั่นเองครับ

      

    10 ประเทศสมาชิกที่มีโควตาสูงสุดของ IMF ในปี 2023

      

    ประเทศที่มีโควตาสูงสุด

    จำนวนโควตา (ร้อยละ)

    สหรัฐฯ

    16.66

    ญี่ปุ่น

    6.21

    จีน

    6.14

    เยอรมนี

    5.37

    ฝรั่งเศส

    4.07

    สหราชอาณาจักร

    4.07

    อิตาลี

    3.05

    อินเดีย

    2.66

    รัสเซีย

    2.61

    บราซิล

    2.24

      

    ขณะที่ปัจจุบัน ประเทศไทยมีโควตาเท่ากับ 3,211.9 ล้าน SDR หรือร้อยละ 0.67 ของจำนวนโควตาทั้งหมดครับ

      

    IMF ประกอบไปด้วยประเทศไหนบ้าง?

     

    ปัจจุบัน IMF มีสมาชิกรวม 190 ประเทศ โดยมีสมาชิกดั้งเดิมที่ลงนามในข้อตกลงขณะเริ่มต้น 35 ประเทศ (อ้างอิงจากรายชื่อบนเว็บไซต์ IMF) ขณะที่ประเทศไทยเข้าร่วม IMF ในฐานะสมาชิกลำดับที่ 44 ครับ

    ตัวอย่างประเทศสมาชิก IMF

    • สหรัฐอเมริกา
    • สหราชอาณาจักร
    • จีน
    • อินเดีย
    • ฝรั่งเศส

      

    IMF มีบทบาทกับประเทศไทยอย่างไร?

    IMF กับไทย

    หลังจากที่ประเทศไทยเข้าร่วม IMF ไปเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 1949 ก็เคยได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจาก IMF 5 ครั้ง รวมเป็นเงินทั้งหมด 4,431 ล้าน SDR ดังนี้ครับ

     

    • ความช่วยเหลือครั้งที่ 1 : เมื่อเดือนกรกฎาคม 1978 จำนวน 45.25 ล้าน SDR

    • ความช่วยเหลือครั้งที่ 2 : เมื่อเดือนมิถุนายน 1981 จำนวน 814.5 ล้าน SDR (แต่เบิกถอนจริงจำนวน 345 ล้าน SDR)

    • ความช่วยเหลือครั้งที่ 3 : เมื่อเดือนพฤศจิกายน 1982 จำนวน 271.5 ล้าน SDR

    • ความช่วยเหลือครั้งที่ 4 : เมื่อเดือนมิถุนายน 1985 จำนวน 400 ล้าน SDR (แต่เบิกถอนจริงจำนวน 260 ล้าน SDR)

    • ความช่วยเหลือครั้งที่ 5 : เมื่อเดือนกรกฎาคม 1997 จำนวน 2,900 ล้าน SDR (แต่เบิกถอนจริงจำนวน 2,500 ล้าน SDR)

     

    โดยความช่วยเหลือทั้ง 5 ครั้ง อยู่ภายใต้โครงการ Stand-by ซึ่งเป็นโครงการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือประเทศสมาชิกที่ประสบปัญหาดุลการชำระเงินระยะสั้น มีระยะเวลาการกู้ยืม 12 – 24 เดือน และระยะเวลาชำระคืนอยู่ที่ 3¼ - 5  ปีครับ อย่างไรก็ดี ประเทศไทยได้ชำระคืนหนี้ทั้งหมดก่อนครบกำหนด ทำให้ในปัจจุบัน ไทยไม่มีภาระหนี้คงค้างกับ IMF อีกต่อไปครับ

      

    ข้อดีและข้อเสียของ IMF

     

    ข้อดี

    • เป็นองค์กรระดับโลกที่มีความน่าเชื่อถือ

    • ให้การสนับสนุนในด้านต่าง ๆ แก่ประเทศสมาชิกเพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ

     

    ข้อเสีย