List of content

    เทียบให้ชัด! สัญญา Future และ Forward ต่างกันอย่างไร?


    สัญญา Future และ Forward ต่างกันอย่างไร?

    นักลงทุนหลายคนคงเคยได้ยินคำว่า “Future (ฟิวเจอร์) และ Forward (ฟอร์เวิร์ด)” กันมาบ้างแล้ว โดยสัญญาดังกล่าว คือ การซื้อขายล่วงหน้าในตลาดอนุพันธ์ ซึ่งมีคุณสมบัติเด่น คือ สามารถทำการซื้อขายได้ทั้งตลาดขาขึ้นและขาลงจึงเหมาะกับนักลงทุนที่ชื่นชอบการเก็งกำไรเป็นอย่างมากครับ ในบทความนี้ ผมจะพาทุกท่านไปรู้จักกับสัญญา Future และ Forward ว่าต่างกันอย่างไร? เพื่อให้ทุกท่านสามารถเข้าใจสัญญา Future และ Forward ได้ดียิ่งขึ้นครับ

     

    สัญญา Future คืออะไร? 

    สัญญา Future คือ สัญญาการซื้อขายล่วงหน้าที่ผู้ซื้อและผู้ขายได้ทำการตกลงซื้อขายสินค้าอ้างอิงกัน โดยสัญญาจะกำหนดราคาตั้งแต่วันนี้ แต่จะส่งมอบสินค้าและชำระเงินในอนาคต ซึ่งจุดเด่นของ Future คือ ผู้ทำสัญญาไม่จำเป็นต้องถือสัญญาให้ครบกำหนดก็สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือกันได้ผ่านตลาด TFEX 

    เรียกได้ว่า สัญญาฟิวเจอร์เป็นหนึ่งในตัวเลือกด้านการลงทุนที่จะช่วยให้เทรดเดอร์และนักลงทุนสามารถลดความเสี่ยงที่จะขาดทุน เมื่อราคาสินทรัพย์ที่มีการปรับขึ้นลงเรื่อย ๆ ในอนาคตนั่นเองครับ

     

    การเทรด Future คืออะไร?

     

    การเทรด Future คือ

    การเทรด Future คือ การเทรดที่เน้น “การเก็งกำไร” จากราคาในอนาคตของซื้อขายสินทรัพย์อ้างอิง ซึ่งการเทรด Future นี้ สามารถเก็งกำไรได้ทั้งตลาดขาขึ้นและขาลง อีกทั้ง นักลงทุนไม่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนที่สูงเกินไปก็สามารถทำการซื้อขายได้ เพราะการลงทุนนี้ จะมีการใช้ Leverage และมีการวางเงินหลักประกัน (Margin) โดยที่ไม่ต้องวางเงินลงทุนแบบเต็มจำนวน ทำให้เพิ่มโอกาสในการทำกำไร หากเทรดเดอร์สามารถจับจังหวะการลงทุนได้อย่างถูกต้องครับ

     

    การสร้างสถานะการเทรด Future เป็นอย่างไร?

    สำหรับสถานะการเทรด Future นั้น ขั้นตอนแรก คือ เทรดเดอร์ต้องเปิดบัญชีการซื้อขายสินทรัพย์อ้างอิงผ่านโบรกเกอร์ที่ให้บริการก่อน หลังจากนั้น ต้องทำการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันที่โบรกเกอร์เปิดให้ใช้บริการจึงจะสามารถเข้าทำการซื้อขายได้ ซึ่งการสร้างสถานะการเทรด Future มี 2 สถานะ ได้แก่ Long Position และ Short Position โดยสถานะดังกล่าวมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้ 

    1. Long Position 

    Long Position คือ สถานะการซื้อสินทรัพย์อ้างอิงตามระยะเวลาและราคาที่กำหนดไว้ในสัญญา ซึ่ง Long Position ควรเปิดก็ต่อเมื่อเทรดเดอร์คาดการณ์ไว้ว่า ราคาสินทรัพย์จะมีการปรับตัวขึ้นในอนาคต หากราคาสินทรัพย์มีการปรับตัวขึ้นจริง เทรดเดอร์ก็จะได้กำไร แต่ในทางตรงข้ามกัน หากราคาสินทรัพย์ปรับตัวลง เทรดเดอร์ก็จะขาดทุน

    2. Short Position 

    Short Position คือ สถานะการขายสินทรัพย์อ้างอิงตามระยะเวลาและราคาที่กำหนดไว้ในสัญญา ซึ่ง Short Position ควรเปิดก็ต่อเมื่อเทรดเดอร์คาดการณ์ไว้ว่า ราคาสินทรัพย์จะมีการปรับตัวลงในอนาคต หากราคาสินทรัพย์มีการปรับตัวลงจริง เทรดเดอร์ก็จะได้กำไร แต่ในทางตรงข้ามกัน หากราคาสินทรัพย์ปรับตัวขึ้น เทรดเดอร์ก็จะขาดทุน

    นอกจากนี้ จุดเด่นของผู้ซื้อสัญญาฟิวเจอร์ คือ ไม่จำเป็นต้องถือสัญญาซื้อขายเอาไว้จนครบตามระยะเวลาที่กำหนดก็สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือกันได้ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า

     

    องค์ประกอบสำคัญของสัญญา Future มีอะไรบ้าง?

    1. สินทรัพย์อ้างอิง

    สินทรัพย์อ้างอิงในสัญญา Future นั้น มีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นทองคำ, น้ำมัน, โลหะเงิน, ทองแดง, ดัชนี, หุ้น, พันธบัตร และเงินตราต่างประเทศ เป็นต้น

    2. ขนาดของมูลค่าสัญญา

    ขนาดของมูลค่าสัญญา คือ จำนวนและมูลค่าของสินทรัพย์อ้างอิงที่ต้องส่งมอบต่อ 1 สัญญา ซึ่งปกติแล้ว การกำหนดขนาดต่อ 1 สัญญาจะไม่ใหญ่จนเกินไป เพราะผู้ซื้อและผู้ขายต้องใช้เงินทุนจำนวนที่มากขึ้น ทำให้อาจจะไม่สะดวกต่อการลงทุนได้

    3. การส่งมอบ

    การซื้อขาย Future ส่วนใหญ่จะไม่มีการส่งมอบสินทรัพย์อ้างอิง เพราะผู้ซื้อและผู้ขายจะทำการลบล้างสถานะก่อนครบกำหนดวันส่งมอบ อีกทั้ง ยังมีการประเมินกำไรขาดทุนให้เสร็จเรียบร้อยก่อนจะลบล้างสถานะ นอกจากนี้ สถานที่การส่งมอบมักถูกกำหนดโดยตลาดซื้อขายสัญญาล่วงหน้า โดยเฉพาะในกรณีของสินค้าโภคภัณฑ์ เพราะระยะทางในการส่งมอบมักมีผลกระทบต่อต้นทุนการขนส่งสินค้านั่นเอง

    4. เดือนที่ส่งมอบ

    สำหรับเดือนที่ส่งมอบจะถูกกำหนดโดยตลาดซื้อขายสัญญาล่วงหน้าเช่นกัน โดยจะต้องระบุวันและเดือนให้ชัดเจน ซึ่งเดือนในการส่งมอบของแต่ละสัญญาจะมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับตลาด Future แต่ละแห่ง

    5. การกำหนดราคา 

    การกำหนดราคาจะขึ้นอยู่กับความสะดวกต่อการซื้อขายในตลาด Future แต่ละแห่ง

    6. การจำกัดการเคลื่อนไหวของราคา

    การจำกัดการเคลื่อนไหวของราคา คือ ขอบเขตสูงสุดของการเคลื่อนไหวของราคาที่ตลาดฟิวเจอร์อนุญาตให้เปิดทำการซื้อขาย ซึ่งราคาในหนึ่งวันจะถูกกำหนดไว้ว่า อยู่ในช่วง +- ได้ไม่เกินกี่เปอร์เซ็นต์ของราคาปิดในวันก่อนหน้า ซึ่งการกำหนดขอบเขตนี้ เพื่อไม่ให้ราคาจากการเก็งกำไรเกิดการแกว่งตัวมากจนเกินไป อย่างไรก็ตาม ช่วงจำกัดการเคลื่อนไหวของราคาก็เป็นอุปสรรคในการลงทุนเช่นกัน เพราะอาจจะทำให้เทรดเดอร์ไม่ได้ราคาที่เคลื่อนไหวตามสภาพจริงของตลาดนั่นเองครับ

    7. การจำกัดจำนวนการถือครองสัญญา

    การจำกัดจำนวนการถือครองสัญญา คือ จำนวนจำกัดสูงสุดของสัญญาที่นักลงทุนสามารถถือครองได้ครับ ยกตัวอย่างเช่น สัญญา USD Futures มีจำนวนการถือครองสัญญาซื้อขายล่วงหน้าได้ไม่เกิน 10,000 สัญญา

     

    กลยุทธ์การลงทุนใน Future มีอะไรบ้าง?

    1. กลยุทธ์การเก็งกำไร (Speculation)

    กลยุทธ์การเก็งกำไร (Speculation) คือ การซื้อขายสัญญา Future เพื่อเพิ่มโอกาสในการทำกำไรที่เพิ่มมากยิ่งขึ้น ซึ่งนักลงทุนต้องยอมรับการขาดทุนที่เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

    2. กลยุทธ์การถัวเฉลี่ย (Hedging) 

    กลยุทธ์การถัวเฉลี่ย (Hedging) คือ การซื้อขายสัญญา Future โดยการลงทุนในแต่ละเดือนด้วยจำนวนเงินที่สม่ำเสมอ เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาสินทรัพย์อ้างอิงในอนาคต 

    3. กลยุทธ์การค้าทำกำไร (Arbitrage)

    กลยุทธ์การค้าทำกำไร (Arbitrage) คือ การซื้อขายสัญญา Future เพื่อทำกำไรจากผลต่างของราคาใน 2 ตลาด โดยเป็นการซื้อสินค้าประเภทเดียวกันจากตลาดที่ถูกกว่า มาขายในตลาดที่แพงกว่านั่นเอง

     

    ประโยชน์ของสัญญา Future

    • สามารถทำกำไรได้ทั้งตลาดขาขึ้นและขาลง
    • ใช้เงินทุนต่ำ
    • มีสภาพคล่องสูง
    • สามารถป้องกันความเสี่ยงจากการเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์อ้างอิงในอนาคตได้

     

    ข้อจำกัดของสัญญา Future

    • มีค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมสูง
    • จำกัดการเลือกสินทรัพย์อ้างอิงในแต่ละสัญญา ทำให้เทรดเดอร์ไม่สามารถกำหนดขนาด, ราคา และค่าธรรมเนียมของสัญญาได้

     

    สัญญา Forward คืออะไร?

     

    สัญญา Forward คืออะไร

    สัญญา Forward คือ สัญญาซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งลักษณะสัญญามีความคล้ายคลึงกับสัญญา Future คือ ผู้ซื้อและผู้ขายจะทำการตกลงซื้อขายสินทรัพย์อ้างอิง เพื่อส่งมอบสัญญาให้กันในอนาคต แต่ข้อแตกต่างของสัญญา Forward คือ การซื้อขายนอกตลาดที่ไม่ได้มีการจัดตั้งอย่างเป็นทางการนั่นเองครับ

     

    การเทรด Forward เป็นอย่างไร?

    การเทรด Forward จะเกิดขึ้นเป็นการส่วนตัวระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ซึ่งปกติแล้ว จะไม่ทำการซื้อขายบนแพลตฟอร์มซื้อขาย เพราะการซื้อขายนี้ จะมาในรูปแบบ Over The Counter (OTC) ซึ่งทำให้คู่สัญญาสามารถปรับแต่งสัญญาเมื่อใดก็ได้ นอกจากนี้ สัญญาฟอร์เวิร์ดก็ไม่ได้มีหน่วยกลางเข้ามากำกับดูแล ทำให้สัญญา Forward เป็นส่วนตัวมากกว่า Future แต่ก็มีจำนวนการซื้อขายที่น้อยกว่าเช่นกัน

     

    ประโยชน์ของสัญญา Forward

    • สัญญาเป็นส่วนตัว เพราะสัญญาเป็นรูปแบบ OTC 
    • ไม่ต้องวางเงินในการทำหลักประกัน
    • สามารถปรับแต่งสัญญาเมื่อใดก็ได้

     

    ข้อจำกัดของสัญญา Forward

    • สัญญา Forward มีความเสี่ยงสูง เพราะคู่สัญญาอาจจะทำการผิดสัญญา
    • สภาพคล่องต่ำ เพราะจำนวนผู้ซื้อและผู้ขายมีน้อยกว่าสัญญาอื่น ทำให้การลบล้างสถานะก่อนครบกำหนดสัญญาเป็นไปได้ยาก

     

    สัญญา Forward กับ Future ต่างกันอย่างไร?

     

    สัญญา Forward กับ Future ต่างกันอย่างไร

    แม้ว่าสัญญา Forward กับ Future จะเป็นสัญญาที่ผู้ซื้อและผู้ขายตกลงกันในเวลาปัจจุบัน ซึ่งมีการชำระเงินและส่งมอบสินทรัพย์อ้างอิงในอนาคตเหมือนกัน แต่สัญญาทั้ง 2 รูปแบบนี้ ก็มีความแตกต่างกันครับ โดยมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้

    1. มาตรฐานของสัญญา 

    สัญญา Future จะเป็นสัญญาที่มีมาตรฐานมากกว่า Forward โดยสัญญา Future จะมีข้อบังคับมาตรฐาน คือ ต้องระบุวันที่และสถานที่ลงในสัญญาด้วย ทำให้การซื้อขายสามารถเปลี่ยนมือหรือลบล้างสถานะได้ง่ายก่อนวันครบกำหนดสัญญา ซึ่งจะตรงกันข้ามกับสัญญา Forward ที่ไม่มีการบังคับเรื่องมาตรฐานและเนื้อหาในสัญญาสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ทำให้ Forward มีความเสี่ยงมากกว่า

    2. สภาพคล่อง

    สัญญา Future มีสภาพคล่องสูงกว่าสัญญา Forward เพราะมีตลาดรองในการซื้อขาย (Future Exchange) ทำให้นักลงทุนสามารถซื้อขายได้ง่าย ก่อให้เกิดสภาพคล่องในตลาดได้ดีกว่า แต่สัญญา Forward ไม่สามารถทำเช่นนั้นได้

    3. Default Risk

    Default Risk คือ ความเสี่ยงในการบิดพลิ้วสัญญาในการชำระเงินหรือส่งมอบสินทรัพย์อ้างอิงในอนาคต ซึ่ง Future มีความเสี่ยง Default Risk น้อยกว่า Forward เพราะ Future มีการทำสัญญากับหน่วยงานหักบัญชีของตลาดแลกเปลี่ยนซื้อขายล่วงหน้า (Future Exchange’s Clearinghouse) แต่สัญญา Forward ผู้ซื้อและผู้ขายตกลงกันเอง

    4. การส่งมอบสินทรัพย์อ้างอิง

    ปกติแล้วตลาด Future จะไม่ค่อยส่งมอบจริง โดยจะนิยมลบล้างสถานะซื้อขายก่อนครบกำหนดสัญญา ซึ่งจะแตกต่างจากสัญญา Forward ที่จะมีการส่งมอบและชำระราคาตามสัญญาเท่านั้น

     

    ข้อควรรู้🏴󠁧󠁢󠁥󠁮󠁧󠁿 สินทรัพย์อ้างอิง (Underlying Asset) คือ สินทรัพย์ที่ถูกกำหนดให้มีการซื้อขายภายใต้ข้อตกลงซื้อขายล่วงหน้าของตลาดอนุพันธ์ ซึ่งสินค้าที่ซื้อขายในตลาดอนุพันธ์สามารถแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ Future, Option, Forward และ Swap นั่นเอง

     


    บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม : 

    ตราสารอนุพันธ์ (Derivatives) คืออะไร? เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงของนักลงทุนจริงหรือ?

    Gold Spot กับ Gold Future แตกต่างกันอย่างไร ? เปรียบเทียบให้เห็นภาพชัด ๆ ในที่เดียว

    Hedging คืออะไร มีประโยชน์อย่างไรในการเทรด Forex

     


    คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับสัญญา Future และ Forward

    Q. สัญญาซื้อขายล่วงหน้า คืออะไร?

    A. สัญญาซื้อขายล่วงหน้า คือ สัญญาการซื้อขายสินทรัพย์อ้างอิงที่มีการตกลงราคาไว้ ณ ปัจจุบัน แต่จะมีการส่งมอบและชำระเงินในอนาคต ซึ่งสัญญาซื้อขายลักษณะนี้จะมีวันที่, เวลา และสถานที่ที่กำหนดไว้ล่วงหน้า

    Q. สัญญาซื้อขายล่วงหน้ามีกี่ประเภท?

    A. สัญญาซื้อขายล่วงหน้ามี 4 ประเภท ได้แก่ Future, Option, Forward และ Swap 

    Q. การเทรด Future คืออะไร?

    A. การเทรด Future คือ การเทรดที่เน้นเก็งกำไรจากราคาซื้อขายสินทรัพย์อ้างอิงในอนาคต (Underlying Asset) นั่นเอง

    Q. สัญญา Forward คืออะไร? 

    A. สัญญา Forward คือ สัญญาการซื้อขายสินทรัพย์อ้างอิงล่วงหน้าแบบ OTC โดยที่ผู้ซื้อและผู้ขายจะกำหนดราคาตั้งแต่วันนี้ แต่จะมีการส่งมอบและชำระเงินในอนาคต

     

    สรุป

    โดยสรุปแล้ว สัญญา Future และ Forward เป็นสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ผู้ทำสัญญามีการตกลงราคาในตอนนี้ แต่การส่งมอบและชำระเงินจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งสัญญาลักษณะนี้จะเป็นการซื้อขายสินทรัพย์อ้างอิง (Underlying Asset) หรือสินทรัพย์ที่ไม่ได้มีมูลค่าในตัวมันเอง แต่มูลค่าของมันจะเคลื่อนไหวไปตามทิศทางของสินทรัพย์ที่ถูกอ้างอิงนั่นเองครับ

    สำหรับจุดเด่นของสัญญา Future และ Forward คือ สามารถทำกำไรได้ทั้งขาขึ้นและขาลง อีกทั้ง ยังสามารถป้องกันความเสี่ยงจากการเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์อ้างอิงในอนาคตได้ครับ ทั้งนี้ สัญญาทั้งสองแบบนี้ก็มีความแตกต่างกัน โดยสัญญา Future จะมีสภาพคล่องสูงกว่าสัญญา Forward เพราะการเทรด Forward อยู่ในรูปแบบของ OTC ซึ่งเป็นการซื้อขายกันเอง ทั้งนี้ การลงทุนทั้ง 2 รูปแบบนี้ ก็มีความเสี่ยงเช่นกัน ดังนั้นแล้ว นักลงทุนควรศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับสัญญาที่คุณให้ความสนใจก่อนลงทุนทุกครั้ง เพราะมิฉะนั้น คุณอาจจะสูญเสียเงินทั้งหมดได้ครับ

     

    Sources : SET และศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้ไทย


     

    ⚠️ การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน

     

    หากคุณมีความสนใจในเรื่องของการลงทุนเหมือนกันกับผม

    สามารถติดตามความรู้เกี่ยวกับ Forex ได้ทางเว็บไซต์ www.thaiforexreview.com

    ติดตามความเคลื่อนไหวและการประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ ได้ทางเพจเฟซบุ๊ก Thaiforexreview

    ติดตามข่าวสารการลงทุนและบทวิเคราะห์ฟอเร็กซ์ได้ที่ Forex Analysis

    อ่านบทความสาระดี ๆ ได้ที่ Blogs

    อ่านรีวิวโบรกเกอร์ยอดนิยมได้ที่ Top Brokers

    investing

    แนะนำโบรกเกอร์สำหรับคุณ

    ข้อจำกัดด้านความปลอดภัย

    Thaiforexreview.com จะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสียหรือความเสียหายใด ๆ
    ที่เกิดจากการพึ่งพาข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้ รวมถึงข่าวการตลาด การวิเคราะห์ สัญญาณการซื้อขาย และบทวิจารณ์โบรกเกอร์ Forex ข้อมูลที่อยู่ในเว็บไซต์นี้อาจไม่เป็นปัจจุบัน และการวิเคราะห์เป็นความคิดเห็น ของ Thaiforexreview.com ไม่มีการการันตีใด ๆ

    การซื้อขายสกุลเงินในตลาด Forex มีความเสี่ยงสูง ก่อนตัดสินใจซื้อขาย Forex หรือใช้เครื่องมือทางการเงินอื่น ๆ ควรพิจารณาวัตถุประสงค์การลงทุน ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงอย่างรอบคอบ เรามุ่งเน้นเพื่อเสนอข้อมูล ที่สำคัญเกี่ยวกับโบรกเกอร์ทั้งหมดที่เราตรวจสอบเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องที่สุด

    © Copyright Thaiforexreview 2023. All rights reserved