List of content
ดอลลาร์สหรัฐเป็นสกุลเงินที่ถูกใช้แลกเปลี่ยนมากที่สุด ดังนั้น จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกการขยับขึ้นลงของค่าเงินดอลลาร์จะส่งผลกระทบต่อผู้คนจำนวนมาก เพราะฉะนั้น หากต้องการวัดค่าเงินดอลลาร์จึงต้องมีหน่วยวัดที่ได้มาตรฐานและแม่นยำ ซึ่ง “ดัชนีดอลลาร์” ถือเป็นเครื่องมือที่ได้รับการพัฒนามาเพื่อการนี้ แต่มันคืออะไร, สำคัญอย่างไร, อ่านค่าอย่างไร แล้วนักลงทุนจำเป็นต้องรู้หรือไม่ ไปติดตามกันครับ
ดัชนีดอลลาร์ (U.S. Dollar Index หรือ Dollar Index: DX) คือ เครื่องมือที่ใช้แสดงมูลค่าโดยรวมของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอื่น ๆ ของโลก ซึ่งจัดทำโดย ICE Data Indices บริษัทในเครือของ Intercontinental Exchange (ICE) ได้รับการพัฒนาโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ในปี 1973 หลังจากระบบ Bretton Woods ล่มสลาย เพื่อใช้วัดความเปลี่ยนแปลงของค่าเงินดอลลาร์ และถ่วงน้ำหนักค่าเงินดอลลาร์กับสกุลเงินหลักอีก 6 สกุลครับ
สกุลเงินหลัก 6 สกุล ในตะกร้าเงินที่เป็นตัวเปรียบเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ได้แก่
ยูโร (EUR) ในสัดส่วน 57.6%
เยนญี่ปุ่น (JPY) ในสัดส่วน 13.6%
ปอนด์อังกฤษ (GBP) ในสัดส่วน 11.9%
ดอลลาร์แคนาดา (CAD) ในสัดส่วน 9.1%
โครนาสวีเดน (SEK) ในสัดส่วน 4.2%
ฟรังก์สวิส (CHF) ในสัดส่วน 3.6%
โดยสกุลเงินที่นำมาเปรียบเทียบนั้น ล้วนเป็นประเทศคู่ค้าหลักที่มีความสำคัญต่อสหรัฐฯ แต่อย่างไรก็ดี ข้อมูลชุดดังกล่าวเป็นข้อมูลตั้งแต่ปี 1999 แตกต่างจากปัจจุบันที่ Top 6 ประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ มีเม็กซิโก, จีน และเยอรมนี เข้ามาด้วย แต่สกุลเงินเปโซเม็กซิโก (MXN), หยวนจีน (CNY) และมาร์คเยอรมัน (DEM) กลับไม่ได้อยู่ในตะกร้าดังกล่าวครับ
ดังนั้น ดัชนีดอลลาร์ในปัจจุบันจึงไม่สามารถสะท้อนการค้าของสหรัฐฯ ได้อย่างแม่นยำนัก ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่า ในอนาคตจะมีการปรับตะกร้าเงินหรือไม่และเมื่อไหร่ครับ
รายชื่อประเทศที่สหรัฐฯ มีการนำเข้ามากที่สุด
รายชื่อประเทศที่สหรัฐฯ มีการส่งออกมากที่สุด
หลาย ๆ ครั้ง เราจะเห็นตัวย่อของดัชนีดอลลาร์ที่หลากหลาย ทั้ง USDX, DXY และ DX แต่มันเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร?
USDX คือ คำที่ใช้เรียกดัชนีดอลลาร์ดั้งเดิม
DXY คือ สัญลักษณ์สำหรับผู้ใช้ Bloomberg Terminal และสำนักข่าวบางแห่ง
DX คือ สัญลักษณ์ที่ ICE Exchange ใช้เรียกค่าดัชนีดอลลาร์
ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็น USDX, DXY หรือ DX ก็สามารถใช้เรียกดัชนีดอลลาร์ได้ ขึ้นอยู่กับความชอบและความสะดวกได้เลยครับ
ดัชนีดอลลาร์มีการกำหนดค่าไว้ที่ 100 จุด ซึ่งมีการอ่านค่าและความหมายดังต่อไปนี้ครับ
หากดัชนีสูงกว่า 100 จุด แสดงว่า ขณะนั้นเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น ๆ ในตะกร้าเงิน
หากดัชนีต่ำกว่า 100 จุด แสดงว่า ขณะนั้นเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น ๆ ในตะกร้าเงิน
การเพิ่มขึ้นหรือลดลงของดัชนีดอลลาร์แต่ละจุดนั้น บ่งชี้ถึงระดับการแข็งค่าและอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ กล่าวคือ หากดัชนีดอลลาร์อยู่ที่ 110 จุด หมายความว่า เงินดอลลาร์แข็งค่า 10% และหากดัชนีดอลลาร์อยู่ที่ 85 จุด หมายความว่า เงินดอลลาร์อ่อนค่า 15% เป็นต้นครับ
ดัชนีดอลลาร์มีความสำคัญต่อนักลงทุน ดังต่อไปนี้
ดัชนีดอลลาร์ถูกใช้เป็นตัวชี้วัดการเปลี่ยนแปลงมูลค่าของสกุลเงินดอลลาร์ เนื่องจากดอลลาร์เป็นค่าเงินที่มีอิทธิพลต่อตลาดเงิน รวมถึงเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งหากจะวัดว่า เงินดอลลาร์มีการแข็งค่าหรืออ่อนค่าโดยเทียบกับเงินเพียงสกุลเดียวอาจจะไม่มีประสิทธิภาพหรือเห็นการเปลี่ยนแปลงนัก ดังนั้น จึงมีการจัดทำดัชนีดอลลาร์ที่มี 6 สกุลเงินสำคัญในการถ่วงดุลขึ้นมาครับ
โดยการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินดอลลาร์จะช่วยให้นักลงทุนสามารถคาดการณ์ทิศทางค่าเงินและทิศทางตลาดในอนาคตต่อไปได้ เพราะดอลลาร์เป็นสกุลเงินที่ถูกใช้แลกเปลี่ยนมากที่สุดในโลก ซึ่งใช้ในทั้งการค้าและการลงทุน ดังนั้น หากเงินดอลลาร์มีการเปลี่ยนแปลงไป การทำธุรกรรมที่ใช้เงินดอลลาร์ก็จะได้รับผลกระทบ และอาจส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจภายในประเทศนั้น ๆ ต่อไปได้ครับ
นอกจากใช้เป็นตัวบ่งชี้แนวโน้มแล้ว ดัชนีดอลลาร์ยังสามารถใช้เป็นสัญญาณในการซื้อขาย Forex ได้ เทรดเดอร์จำนวนหนึ่งใช้ดัชนีดอลลาร์เพื่อหาแนวรับ – แนวต้าน และวางแผนการเทรดของตัวเอง ซึ่งดัชนีดอลลาร์สามารถประยุกต์ใช้ได้กับทั้งคู่เงินที่มีความสัมพันธ์แบบแปรผันตรง และคู่เงินที่มีความสัมพันธ์แบบแปรผกผันครับ
ดัชนีดอลลาร์มีความสัมพันธ์กับสินทรัพย์ทางการเงินต่าง ๆ ในรูปแบบที่แตกต่างกัน ดังนี้
ความสัมพันธ์แบบแปรผันตรง คือ สินทรัพย์ที่มีการเคลื่อนที่ไปในทิศทางเดียวกับดัชนีดอลลาร์ เช่น หุ้นโลก, หุ้นสหรัฐฯ และคู่เงินบางคู่ (เช่น USDJPY, USDCAD และ USDGBP เป็นต้น)
ความสัมพันธ์แบบแปรผกผัน คือ สินทรัพย์ที่มีการเคลื่อนที่ไปในทิศทางตรงกันข้ามกับดัชนีดอลลาร์ เช่น หุ้นตลาดเกิดใหม่, ทองคำ, น้ำมัน, สินค้าโภคภัณฑ์ และคู่เงินบางคู่ (เช่น EURUSD, AUDUSD และ NZDUSD เป็นต้น)
ความสัมพันธ์ของดัชนีดอลลาร์กับสินทรัพย์ทางการเงินต่าง ๆ ในตัวอย่างข้างต้นจะทำให้เราทราบทิศทางและการคาดการณ์เบื้องต้น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนทุกท่านครับ