List of content

    Moving Average (MA) คืออะไร? อินดิเคเตอร์พื้นฐานที่เทรดเดอร์มือใหม่ควรรู้


    review-license

    ในปัจจุบันนี้ “การลงทุน” เป็นเรื่องที่ผู้คนให้ความสนใจกันมากขึ้นอย่างทวีคูณ เนื่องด้วยปัจจัยพื้นฐาน จนไปถึงปัญหาชีวิตที่จำเป็นที่ต้องมีการเพิ่มรายได้จากแหล่งอื่นที่ไม่ใช่งานประจำ และแน่นอนว่า ผู้คนก็พยายามที่จะหาทางลัดให้กับตัวเองเพื่อที่จะได้บรรลุเป้าหมายทางการเงินของพวกเขาให้ได้ในที่สุด

    แน่นอนว่า “Forex” เริ่มมีความนิยมมากขึ้นมาในปี 2019 นับตั้งแต่มีโรคระบาดอย่าง Covid-19 เข้ามาระรานโลกใบนี้ ส่งผลให้ผู้คนไม่สามารถที่จะออกไปทำงานได้อย่างปกติ และกดดันให้ต้องมีรายได้เสริมจากโลกออนไลน์ และ Forex คือหนึ่งในคำตอบของโจทย์ดังกล่าว ซึ่งสามารถที่จะเทรดให้ชนะ และได้เงินจากมัน แต่การที่คุณจะสามารถเทรดได้อย่างมีประสิทธิภาพ แน่นอนว่าต้องมีตัวช่วยเข้ามาคอยซัปพอร์ตในการวิเคราะห์การเคลื่อนที่ของราคาในตลาด Forex

    วันนี้ Thaiforexreview จะพาทุกคนมารู้จักกับอินดิเคเตอร์ Moving Average (MA) อินดิเคเตอร์ที่จะช่วยให้คุณสามารถที่จะดูแนวโน้ม และแนวรับ-แนวต้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    Moving Average คืออะไร ?

    Moving Average (MA)  อินดิเคเตอร์ที่ใช้ค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่หรือเส้นค่าเฉลี่ยในการวิเคราะห์แนวโน้มของราคาสินทรัพย์ต่าง ๆ ในตลาดการเงิน นอกจากนี้ยังสามารถที่จะใช้เป็นแนวรับ-แนวต้าน ของราคาได้เช่นกัน จากการนำข้อมูลย้อนหลังมาคำนวณและแปลงมาเป็นในรูปแบบของ “เส้นค่าเฉลี่ย” นั่นเองครับ

    Moving Average บอกอะไรได้บ้าง?

    • ใช้ MA เพื่อดูแนวโน้มราคาหรือเทรนด์ ณ ขณะนั้น
    • ใช้ MA เพื่อหาจุดเข้าซื้อหรือขาย
    • ใช้ MA เป็นแนวรับหรือแนวต้าน

    อย่างไรก็ตาม Moving Average สามารถใช้ร่วมกับอินดิเคเตอร์ตัวอื่น หรือเทคนิคการเทรดทั่วไปในตลาด Forex ได้ เช่น Price Pattern และ Price Action ซึ่งจะช่วยให้การคาดการณ์แนวโน้มในอนาคตมีความแม่นยำสูงมากขึ้นครับ

    สูตร Moving Average

    เนื่องจาก Moving Average คือ การค่าเฉลี่ยราคาปิดย้อนหลังในหลาย ๆ วันมาคำนวณสำหรับวิเคราะห์และคาดการณ์ราคาในอนาคต จากนั้นผลลัพธ์จะถูกนำเสนอออกมาในรูปแบบของกราฟเส้น เพื่อพิจารณาควบคู่ไปกับกราฟแท่งเทียนของราคา โดยมีตัวอย่างการคำนวณ ดังนี้

     

    วันที่ ราคาปิด
    1 15.00
    2 14.30
    3 13.12
    4 16.70
    5 18.20
    Total 77.32
    Average 15.47

     

    จากตารางสามารถสรุปได้ว่า ค่า Moving Average ที่เราจะได้เท่ากับ 15.47 นั่นเอง 

    ประเภทของ Moving Average

    เส้น Moving Average หรือเส้น MA ที่นำมาใช้ในการวิเคราะห์มีอยู่หลายประเภท ซึ่งแต่ละประเภทจะมีการคำนวณที่แตกต่างกันออกไป โดยในวันนี้เราจะนำเสนอเส้น MA 2 ประเภท ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในกลุ่มเทรดเดอร์ นั่นคือ EMA และ SMA โดยมีรายละเอียดดังนี้

    เส้น MA คืออะไร? 

    เส้น MA คือ เส้นค่าเฉลี่ยที่ถูกนำมาวิเคราะห์ และใช้งานร่วมกับอินดิเคเตอร์ Moving Average โดยจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่ EMA และ SMA โดยจะมีวิธีการใช้งานและการคำนวณที่แตกต่างกันออกไป

    เส้น EMA คืออะไร?

    เส้น EMA ย่อมาจาก Exponential Moving Average คือ การคำนวณในรูปแบบของการให้ความสำคัญไปที่ “ค่าสุดท้าย” มากที่สุด ซึ่งจะทำให้มีผลต่อการเปลี่ยนของราคาเร็วที่สุดในบรรดา Moving Average แต่สามารถทำให้เกิดสัญญาณหลอกได้ง่าย

    เส้น SMA คืออะไร? 

    เส้น SMA ย่อมาจาก Simple Moving Average คือ การคำนวณด้วยข้อมูลย้อนหลัง โดยที่จะให้ความสำคัญที่ “เท่า ๆ กัน” ซึ่งจะส่งผลให้มีการเคลื่อนที่ตามราคาได้ช้ากว่า EMA ที่จะให้ความสำคัญไปที่ค่าสุดท้าย แต่ SMA จะเกิดสัญญาณหลอกได้ยากกว่า EMA

     

    SMA กับ EMA ต่างกันอย่างไร ?

    ถึงแม้ว่า SMA จะมีการเคลื่อนที่ที่ช้ากว่า EMA แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทั้ง 2 ตัวนี้ไม่ได้ช้ากันกว่ากันขนาดนั้น ซึ่งถ้าหากนำทั้ง 2 ตัวมาเทียบกันในระยะที่เท่ากัน ภาพที่แสดงออกมาก็แทบไม่ต่างกันเลยครับ 

    ความแตกต่างของ EMA และ SMA

    จะสังเกตได้ SMA จะช้ากว่า EMA แต่ก็ใช่ว่าช้ากว่าแล้วจะด้อยกว่าไปซะทีเดียวครับ ในตลาด Forex ที่ไม่สามารถคาดเดาอะไรได้อย่าง 100% นั้น อาจจะเกิดอะไรขึ้นก็ได้ทั้งนั้น EMA มีการเคลื่อนที่ตามราคาอย่างรวดเร็วก็จริง แต่การปรับตัวตามราคาที่เร็วมากเกินไปก็อาจจะส่งผลให้มีสัญญาณหลอกที่มากขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน ส่วน SMA ที่ปรับตัวตามราคาช้ากว่า อาจจะให้สัญญาณหลอกที่น้อยกว่าก็เป็นได้

     

    ดังนั้น สรุปได้ว่า EMA และ SMA ไม่ได้มีตัวไหนดีหรือด้อยไปกว่าตัวกัน เพียงแค่คุณเข้าใจหลักการทำงานของทั้งคู่ว่าเหมาะกับ Timeframe ไหนหรือเหมาะกับสถานการณ์ไหน คุณก็สามารถที่จะใช้อินดิเคเตอร์เหล่านี้ในการช่วยวิเคราะห์ได้อย่างมีประสิทธิภาพได้

    ค่า Moving Average ที่นิยมใช้

    ถึงแม้ว่า การใช้ Moving Average จะสามารถเลือกใช้ได้ทั้งเส้น EMA และ SMA แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เทรดเดอร์ส่วนใหญ่นิยมใช้เส้น EMA มากกว่า เนื่องจากมีการตอบสนองต่อราคา หรือให้สัญญาณที่รวดเร็วกว่าเส้น SMA ซึ่งข้อควรระวังของการใช้เส้น EMA ที่สำคัญมาก คือ เกิดสัญญาณหลอกได้ง่าย ดังนั้น ควรใช้อินดิเคเตอร์ตัวอื่น ๆ ร่วมด้วย เพื่อยืนยันสัญญาณให้ชัดเจนขึ้น

    เส้น MA ที่นิยมใช้

    เส้น MA ที่นิยมใช้มากที่สุด คือ 5 วัน, 10 วัน, 20 วัน, 25 วัน, 40 วัน, 50 วัน, 75 วัน และ 200 วัน ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยรอบสัปดาห์ เดือน และไตรมาส

     

    วิธีการตั้งค่า Moving Average 

    สำหรับการตั้งค่าที่นิยมสำหรับ Moving Average แล้ว โดยปกติค่าแรกเริ่มที่ให้มาจะเท่ากับ 9 เสมอ โดยเราสามารถที่จะปรับเปลี่ยนเพื่อให้เข้ากับกลยุทธ์ที่เราต้องการได้เช่นกัน โดยการตั้งค่าที่นิยมใช้ จะมีดังนี้ 

    การตั้งค่าเดิม Moving Average

    การตั้งค่า Moving Average เทรดระยะสั้น

    สำหรับการตั้งค่า Moving Average ในการเทรดระยะสั้น ส่วนมากจะนิยมใช้อยู่ที่ตั้งแต่ 9-25 เนื่องจากว่าในระยะนี้จะให้สัญญาณการซื้อขายที่เร็ว และใช้เพื่อเก็งกำไรเพียงไม่กี่ pips ซึ่งจะเหมาะกับ TF ตั้งแต่ 15M ลงมา แต่จะมีข้อเสียที่ว่าจะมีความผันผวนที่สูงมาก และอาจจะเกิดสัญญาณหลอกได้มาก โดยจะเหมาะกับเทรดเดอร์สาย Scalping หรือ Day Trade

     

    MA ระยะสั้น

    การตั้งค่า Moving Average เทรดระยะกลาง

    สำหรับการตั้งค่า Moving Average ในการเทรดระยะกลาง ส่วนมากจะนิยมใช้ตั้งแต่ระยะ 30-75 เนื่องจากว่าในระยะนี้จะให้สัญญาณการซื้อขายที่ช้าลงมากหน่อย แต่ในเรื่องของสัญญาณหลอก และความผันผวนก็จะน้อยลงตามไปด้วยเช่นกัน โดยจะเหมาะกับการเทรดใน TF ตั้งแต่ 30M-4H ซึ่งจะเหมาะเทรดเดอร์สายรันเทรนด์ หรือ Trend Following ที่มักจะถือออเดอร์ไม่เกิน 1 สัปดาห์

     

    MA ระยะกลาง

    การตั้งค่า Moving Average เทรดระยะยาว

    สำหรับการตั้งค่า Moving Average ในการเทรดระยะกลาง ส่วนมากจะนิยมใช้ตั้งแต่ระยะ 100-200 เนื่องจากว่าจะเป็นระยะที่ให้สัญญาณซื้อขายช้าที่สุด โดยจะเหมาะกับ TF ตั้งแต่ 4H ขึ้นไป ซึ่งจะเหมาะกับเทรดเดอร์สาย Swing Trade หรือคนที่ชอบถือออเดอร์ยาวเป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือน

     

    MA ระยะยาว

    วิธี Moving Average มีหลักการอย่างไร ?

    อย่างที่เราได้กล่าวไปข้างต้นว่า Moving Average สามารถใช้ดูแนวโน้ม, หาจุดเข้าซื้อหรือขาย และใช้เป็นแนวรับหรือแนวต้านจากเส้น SMA หรือ EMA ได้ ในหัวข้อนี้ เราจะอธิบายอย่างละเอียดว่า การใช้ Moving Average เพื่อวิเคราะห์กราฟราคา ต้องดูจากอะไร และมีเทคนิคอย่างไรบ้าง โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 วิธีหลัก ๆ ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

     

    การใช้ Moving Average ดูแนวโน้มจากความชัน MA (Slope)

    การดูแนวโน้มจากความชันของ MA เป็นวิธีการใช้ที่ง่ายที่สุด โดยคุณสามารถเลือกใช้เส้น EMA หรือ SMA ได้ตามความถนัดและกลยุทธ์ของแต่ละบุคคล รวมถึงอาจเลือกใช้ทั้งสองเส้นเพื่อความแม่นยำที่มากขึ้นในการวิเคราะห์ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

     

    สัญญาณแนวโน้มขาขึ้นจาก Moving Average 

    • เส้น MA มีลักษณะชี้ขึ้นอย่างต่อเนื่อง
    • ราคาอยู่บนเส้น MA 
    • บ่งบอกว่า มีโอกาสสูงที่จะเป็นแนวโน้มขาขึ้น (Uptrend) 

     สัญญาณแนวโน้มขาลงจาก Moving Average 

    • เส้น MA มีลักษณะชี้ลงอย่างต่อเนื่อง
    • ราคาอยู่ใต้เส้น MA 
    • บ่งบอกว่า มีโอกาสสูงที่จะเป็นแนวโน้มขาลง (Downtrend) 

    ตัวอย่างการใช้ Moving Average ดูแนวโน้มจากความชัน

    MA Slope

    การใช้ Moving Average ดูแนวโน้มและสัญญาณซื้อขายจาก Crossover

    การ Crossover ของเส้น MA 2 เส้น เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับการคาดการณ์แนวโน้มได้ค่อนข้างดี ซึ่งโดยทั่วไปเทรดเดอร์ส่วนใหญ่จะนิยมใช้เส้น MA ชนิดเดียวกันทั้งสองเส้น แต่การใช้ทั้งเส้น EMA และเส้น SMA เพื่อดูการ Crossover ก็ไม่ใช่เรื่องผิด ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับกลยุทธ์และความถนัดของแต่ละบุคคลครับ

     

    การดูแนวโน้มจาก Crossover ของเส้น MA จะต้องให้ความสำคัญกับการกำหนด Period ของแต่ละเส้น โดยคุณต้องทำการตั้งค่าให้ทั้งเส้น Period น้อย และเส้น Period มาก เนื่องจากมีการตีความหมายของแนวโน้มที่แตกต่างกันออกไป และนำไปสู่สัญญาณเข้าซื้อขายที่มีประสิทธิภาพ ดังนี้

    สัญญาณแนวโน้มขาขึ้นจาก Moving Average 

    • เส้น Period น้อยตัด Peiord มากขึ้นไป
    • บ่งบอกว่า มีโอกาสสูงที่จะเป็นแนวโน้มขาขึ้น (Uptrend) 
    • การเปิดออเดอร์ Buy จะได้เปรียบ

    สัญญาณแนวโน้มขาลงจาก Moving Average 

    • เส้น Period น้อยตัด Peiord มากลงมา
    • บ่งบอกว่า มีโอกาสสูงที่จะเป็นแนวโน้มขาลง (Downtrend) 
    • การเปิดออเดอร์ Sell จะได้เปรียบ

     ตัวอย่างการใช้ Moving Average ดูแนวโน้มและสัญญาณซื้อขายจาก Crossover

    MA Crossover

    การใช้ Moving Average เป็นแนวรับและแนวต้าน

    ความสามารถของอินดิเคเตอร์ Moving Average ที่โดดเด่นจากอินดิเคเตอร์ตัวอื่น ๆ คือ คุณสามารถนำเส้น MA มากลายร่างเป็นแนวรับและแนวต้านที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นได้ ซึ่งแนวรับและแนวต้านเป็นการวิเคราะห์กราฟขั้นพื้นฐาน แต่การใช้เส้น MA เป็นแนวรับและแนวต้านจะช่วยให้คุณวิเคราะห์ได้ง่าย และแม่นยำมากยิ่งขึ้น โดยทั่วไปเทรดเดอร์นิยมเลือกใช้เส้น MA เพียงเส้นเดียวเท่านั้น แต่คุณสามารถเลือกได้ว่าจะใช้เส้น EMA หรือ SMA ขึ้นอยู่กับกลยุทธ์และความถนัดของแต่ละบุคคล

    นอกจากนี้ยังถือเป็นสัญญาณกลับตัวสำคัญในกรณีที่ราคาสามารถทะลุเส้น MA ขึ้นหรือลงไปได้ โดยทั่วไปเทรดเดอร์จะใช้เส้น MA เพียงเส้นเดียวเท่านั้น แต่คุณสามารถเลือกได้ว่าจะใช้เส้น EMA หรือ SMA ซึ่งขึ้นอยู่กับกลยุทธ์และความถนัดของแต่ละบุคคล

    สัญญาณแนวโน้มขาขึ้นจาก Moving Average 

    • ราคาทะลุเส้น MA ขึ้นไป
    • บ่งบอกว่า มีโอกาสสูงที่จะเป็นแนวโน้มขาขึ้น (Uptrend) 
    • การเปิดออเดอร์ Buy จะได้เปรียบ

    สัญญาณแนวโน้มขาลงจาก Moving Average 

    • ราคาทะลุเส้น MA ลงมา
    • บ่งบอกว่า มีโอกาสสูงที่จะเป็นแนวโน้มขาลง (Downtrend) 
    • การเปิดออเดอร์ Sell จะได้เปรียบ

    ตัวอย่างการใช้ Moving Average เป็นแนวรับและแนวต้าน

    MA Support and Resistance

    กลยุทธ์การเทรดด้วย Moving Average (MA) 

    หลังจากที่เราทำความเข้าใจเกี่ยวกับพื้นฐาน Moving Average ไปแล้ว ทีนี้เราจะพามาเข้าสู่หลักสูตร “กลยุทธ์การเทรดด้วย Moving Average” กันครับ อย่างที่ทราบกันดีว่า Moving Average เป็นอินดิเคเตอร์สำหรับใช้ในการดูแนวโน้ม แนวรับ-แนวต้าน จุดกลับตัว และจุด Break out โดยทั้งทุกอย่างที่กล่าวไปนั้น สามารถที่จะผนวกรวมเข้าด้วยกันกลายเป็นกลยุทธ์การเทรด 1 Setup ได้เลย

    โดยสามารถที่จะแยกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบ Continue (ไปต่อ) และรูปแบบ Reversal (กลับตัว) โดยสามารถที่จะแยกได้จากการสังเกตการเกิดสัญญาณ Break Out  

    ตัวอย่างกลยุทธ์การเทรดด้วย Moving Average

    MA trading strategy

    จากในรูป ที่ลูกศรสีเหลืองราคาได้เกิดการ Break Out เส้น EMA (50) ขึ้นไป โดยได้มีการกลับตัวลงมา Re-Test ที่เส้น EMA (50) หลายครั้ง แต่ไม่สามารถที่จะ Break Out กลับลงไปได้ (สังเกตจากลูกศรสีขาว) ส่งผลให้เส้น EMA (50) กลายเป็นแนวรับและจุดกลับตัว (Reversal) ในช่วงเวลาหนึ่ง โดยเทรดเดอร์สามารถที่จะถือโอกาสในการทำกำไรจากช่วงดังกล่าวได้ แต่ต้องดูให้ดีว่าราคาจะเกิดการกลับตัวที่ EMA (50) จริง ๆ จากการนำ Price Action เข้ามาช่วยยืนยัน

    และหลังจากที่ราคาได้ขึ้นไปชนแนวต้านหลัก ราคาก็ได้กลับตัวลงมาและ Break Out ผ่านเส้น EMA (50) และแนวรับหลัก (Trend ine สีเหลือง) ลงมาได้ (ลูกศรสีส้ม) โดยได้มีการปรับตัวลงไปต่อ (ลูกศรสีฟ้า) ในส่วนนี้มีข้อคำนึงก่อนการเข้าเทรดคือ แนวรับหลัก หากว่าราคาไม่สามารถที่จะ Break Out แนวรับหลักลงมาได้ มีโอกาสที่ราคาจะกลับตัวขึ้นไปต่อได้ แต่ในกรณีตัวอย่างนี้ ราคาสามารถที่จะ Break Out ลงมาได้ทั้ง EMA (50) และแนวรับหลัก จึงทำให้เกิดอุปทานจำนวนมากตามมานั่นเองครับ

    ข้อควรระวังในการใช้ Moving Average

    การเทรดด้วย Moving Average จะเราสังเกตได้ว่าเป็นเทคนิคที่เน้นไปในการหาจุดกลับตัว และการ Break Out เป็นหลัก ซึ่งในการเทรดจริงมันไม่ได้ง่ายอย่างในกรณีตัวอย่างทุกรอบ จะมีอีกหลายเหตุการณ์ที่ทำให้คุณต้องสับสนงุนงงกับมัน เช่น False Break Out หรือการเบรกหลอก เป็นต้น

    ตัวอย่างการเกิด False Break Out หรือการเบรกหลอก

    ข้อควรระวัง MA

    จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่า ราคาได้เกิดการ Break Out ผ่านเส้น EMA (50) และ Supply ขนาดเล็กผ่านไปได้ แต่ไม่สามารถที่จะผ่าน Main Supply Zone ขึ้นไปได้ เลยทำให้ราคากลับตัวลงไปคืน

    สรุป Moving Average (MA)

    Moving Average คือ อินดิเคเตอร์พื้นฐานที่เทรดเดอร์ใช้กันทั่วโลก โดยจะใช้ค่าเฉลี่ยราคาปิดย้อนหลังมาคำนวณ และแสดงผลออกมาในรูปแบบของกราฟเส้น เพื่อใช้พิจารณาประกอบกับแท่งเทียน อีกทั้ง การใช้ Moving Average ยังเป็นพื้นฐานในการต่อยอดไปยังการใช้อินดิเคเตอร์ตัวอื่น ๆ ที่มีความยากขึ้น

    โดยเส้น MA สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ EMA และ SMA ซึ่ง EMA จะให้สัญญาณที่เร็วกว่า SMA แต่ก็สามารถเกิดสัญญาณหลอกได้เร็วกว่าเช่นกัน ดังนั้น หากคุณตัดสินใจในการใช้ EMA เพียงประเภทเดียวในการวิเคราะห์ จำเป็นต้องใช้อินดิเคเตอร์ตัวอื่น ๆ เข้ามาเพื่อยืนยันสัญญาณให้แม่นยำมากขึ้น

    อย่างไรก็ตาม การใช้เครื่องมือเพียงตัวเดียวเพื่อหาสัญญาณเข้าซื้อขาย คงไม่ใช่ความคิดที่ดีนักของเทรดเดอร์ที่ต้องการทำกำไรในตลาด Forex เนื่องจากเป็นตลาดที่มีความผันผวนสูง ดังนั้น การใช้ Moving Average ควบคู่กับอินดิเคเตอร์ตัวอื่น ๆ หรือการใช้ Moving Average ประกอบกับเทคนิคการวิเคราะห์ เช่น Price Pattern และ Price Action จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

    การลงทุนทุกประเภทมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาให้ดี ก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง

    Source : Traderbobo และ Fxtoday


    ⚠️ การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน

     

    หากคุณมีความสนใจในเรื่องของการลงทุนเหมือนกันกับผม

    สามารถติดตามความรู้เกี่ยวกับ Forex ได้ทางเว็บไซต์ www.thaiforexreview.com

    ติดตามความเคลื่อนไหวและการประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ ได้ทางเพจเฟซบุ๊ก Thaiforexreview

    ติดตามข่าวสารการลงทุนและบทวิเคราะห์ฟอเร็กซ์ได้ที่ Forex Analysis

    อ่านบทความสาระดี ๆ ได้ที่ Blogs

    อ่านรีวิวโบรกเกอร์ยอดนิยมได้ที่ Top Brokers

    forex
    beginner

    แนะนำโบรกเกอร์สำหรับคุณ

    ข้อจำกัดด้านความปลอดภัย

    Thaiforexreview.com จะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสียหรือความเสียหายใด ๆ
    ที่เกิดจากการพึ่งพาข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้ รวมถึงข่าวการตลาด การวิเคราะห์ สัญญาณการซื้อขาย และบทวิจารณ์โบรกเกอร์ Forex ข้อมูลที่อยู่ในเว็บไซต์นี้อาจไม่เป็นปัจจุบัน และการวิเคราะห์เป็นความคิดเห็น ของ Thaiforexreview.com ไม่มีการการันตีใด ๆ

    การซื้อขายสกุลเงินในตลาด Forex มีความเสี่ยงสูง ก่อนตัดสินใจซื้อขาย Forex หรือใช้เครื่องมือทางการเงินอื่น ๆ ควรพิจารณาวัตถุประสงค์การลงทุน ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงอย่างรอบคอบ เรามุ่งเน้นเพื่อเสนอข้อมูล ที่สำคัญเกี่ยวกับโบรกเกอร์ทั้งหมดที่เราตรวจสอบเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องที่สุด

    © Copyright Thaiforexreview 2023. All rights reserved